ก่อนที่จะมารับหน้าที่ดูแลตึกอนุสาร คุณมิ้กกี้ทำงานด้านไหนมาก่อน
จริงๆ เพิ่งกลับมาได้แค่ 2 ปีค่ะ ก่อนหน้านั้นทำงานที่กรุงเทพฯ เป็นบริษัท support ทางด้านภาษา เป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทญี่ปุ่นที่มาลงทุนในประเทศไทย ช่วย support เรื่องงานล่ามงานแปลเอกสาร business facing ส่วนเหตุผลที่กลับมาเชียงใหม่คือก่อนหน้านั้น ทางบ้านก็ชวนให้กลับมาเชียงใหม่ตั้งนานแล้ว แต่เรายังไม่พร้อมเพราะว่าลูกยังเล็ก และมีบริษัทที่ต้องดูแลทำงานกับคนต่างชาติตอนนั้นต้อง face to face เป็นหลัก แต่พอเจอโควิดสถานการณ์เปลี่ยนไปคนหันไปใช้ออนไลน์กันมากขึ้น เราก็เลยมีความรู้สึกว่าไม่ได้จำเป็นที่จะต้องอยู่กรุงเทพฯ แล้ว เป็นเวลาที่ดีที่จะกลับเชียงใหม่ ตอนแรกที่กลับมา ก็ไม่ได้วางแผนอะไรมาก หลักๆ เลยก็มาช่วยดูธุรกิจหลักของที่บ้าน คืองานดูแลตลาดวโรรส ตลาดคำเที่ยง และตลาดต้นลำไย ระหว่างที่ดูแลสามตลาดก็เห็นว่าคุณพ่อ (คุณสมยศ นิมมานเหมินท์) ก็อยู่ดูแลตึกอนุสารมานาน เราก็มองว่า จริงๆที่ตรงนี้ก็มีเสน่ห์ของมัน คิดว่าน่าจะสามารถเป็นเป็นพื้นที่ให้เช่า แล้วก็จะช่วยเป็นราย และได้ช่วยงานคุณพ่อไปได้ด้วย ก็เลยเข้ามาช่วยพัฒนาตรงนี้
ตั้งแต่เริ่มต้น วิธีคิดว่าจะเปิดให้เช่าตึกจนถึงวันนี้คือเกือบจะสองปีแล้ว
ใช่ค่ะ ช่วงที่เริ่มน่าจะประมาณ พ.ย 64 ผู้เช่ารายแรก ๆ คือ ร้านวิถีลาบ หรือว่าร้านกาแฟ Building A
ตอนมาทำตรงนี้มีโมเดล แนวคิด หรือว่าแรงบันดาลใจจากที่ไหนไหม
คือจริง ๆ แล้วไม่ได้ถึงขั้นเป็นแรงบันดาลใจอะไรขนาดนั้น แต่ความที่เมื่อก่อนเราเคยอยู่ญี่ปุ่น ชอบเที่ยวไปตามที่ต่าง ๆ เพราะเราเป็นคนชอบวัฒนธรรม ชอบประวัติศาสตร์ ชอบเมืองเก่าย่านเก่า เห็นเขาเอาตึกเก่ามา Renovate แบบไม่ใช่ทำตึกใหม่ครอบตึกเก่า แต่คือการยังคงรักษาตึกเดิมเอาไว้ ปรับปรุงเท่าที่จำเป็น และพยายามใช้พื้นที่ให้คุ้มค่า เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาใช้งาน คนรุ่นใหม่กับตึกเก่ากับย่านเก่าก็สามารถ Blend in ไปด้วยกันได้ดี
นอกจากที่ญี่ปุ่นถ้าจะคล้ายบ้านเราหน่อยก็จะมีเวียดนาม เมืองโฮจิมินห์ คือที่นั้นมีตึกแบบสมัยโคโลเนียลอยู่เยอะ แล้วเขายังเก็บรักษาไว้ได้ มีการเปิดให้ใช้ตึกทำ café ขายกาแฟ มีร้านขายเสื้อผ้าแฟชั่น และร้านสินค้าใหม่ๆ ร่วมสมัยเป็น Contemporary เลยนะ แต่ก็ยังมีลิฟท์กับราวบันไดที่ทุกอย่างเป็นของเดิม ดูขลังดี และเราก็ชอบ ดูจะใกล้เคียงกับตึกของเรา อายุตึกก็น่าจะใกล้เคียงกันด้วยค่ะ
เสน่ห์ของย่านสันป่าข่อยในสายตาคุณคืออะไร
จริง ๆ แล้วสันป่าข่อย นิยามเลยคือ Local เชียงใหม่ เเบบไม่ปรุงแต่ง เป็นย่านที่คนเชียงใหม่อยู่และใช้ชีวิตจริงๆ เป็นญาติพี่น้อง เป็นบ้าน และร้านค้าไปในตัว และไม่ได้เป็นย่านท่องเที่ยวแบบในเมืองเก่าที่มีโบราณสถาน มีวัดให้ดู หรือมีสถานบันเทิงร้านนั้นนี่เน้นให้นักท่องเที่ยว ถึงแม้ตอนนี้เราจะเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงบ้างแล้ว และคนสันป่าข่อยที่ใช้ชีวิตอยู่กันจริงๆ จะเริ่มลดลงไปเรื่อย ๆ เท่าที่ทราบร้านหลายแห่งลูกหลานก็มีบ้านในโครงการจัดสรรอยู่ข้างนอก กลางวันอาม่าอากง หรือคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ก็ยังมาเปิดร้านเหมือนเดิม กลางคืนกลับไปนอนบ้านข้างนอก นี่คือเสน่ห์ของสันป่าข่อย ยังมีคนค้าขาย ยังมีคนซื้อกับข้าวไปตลาดกลับมาทำที่บ้าน ยังมีร้านก๋วยเตี๋ยวร้านอาหารข้างทางเยอะแยะที่คนเชียงใหม่ยังรู้สึกว่ามาเพื่อกิน มาใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ได้มาเพื่อเอาสไตล์อะไรมากมาย ที่เห็นชัด ๆ เลยคือช่วงโควิด ที่นี่จะต่างกับที่อื่นๆ ที่ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยว พอไม่มีนักท่องเที่ยวย่านก็จะเงียบเหงา แต่ที่สันป่าข่อยถึงแม้ว่าร้านอาหารหลายร้านจะไม่สามารถเปิดได้แต่เขาก็เปิดแบบขายแบบ Delivery หรือเปิดให้คนซื้อกลับบ้าน คนก็ยังใช้ถนนเจริญเมืองเป็นเส้นทางเข้าเมือง คนไปมายังพลุกพล่าน ก็เลยคิดว่าอันนี่แหละเป็นเสน่ห์ของสันป่าข่อย ย่านที่คนเชียงใหม่ยังแวะมาอยู่ มากิน ใช้ชีวิตที่เป็น Local จริงๆ
ขอช่วยลงรายละเอียดสักนิดว่า เสน่ห์ Local แบบสันป่าข่อยประกอบด้วยอะไรบ้าง
ของกินอร่อย ๆ มาอันดับหนึ่ง ที่มีของกินขึ้นชื่ออยู่หลายร้านทั้งเจ้าเก่า และร้านเปิดใหม่ อันดับสอง คือ ร้านอะไหล่ยังมีของอยู่เยอะ และไม่มีที่อื่นที่ใกล้เมือง ของขายแบบนี้แล้วต้องมาที่นี่เท่านั้น อันดับสาม คือ อาคารถ้าให้มองผิวเผินจากข้างนอก เราจะรู้สึกเฉย ๆ แต่พอได้เข้ามาข้างในแล้วจะรู้สึกว้าว! เพราะเราเห็นแค่ข้างหน้าเป็นห้องแถว แต่พอเราได้มีโอกาสเดินเข้าไปจะแปลกใจว่าในนี้มันมีเวิ้งแบบนี้ด้วยเหรอ มีอาคารที่มีหน้าต่าง มีเสา มีรายละเอียดแบบนี้ด้วย เป็น Hidden Gem ที่เมื่อก่อนไม่ได้เปิดให้เห็น หรือไม่ได้รับความสนใจ แต่วันนี้ สิ่งนี้ คือ เสน่ห์ที่รอให้คนมาค้นพบ ที่เห็นชัด ๆ เช่น อาคารหัวมุมสี่แยกที่ตอนนี้เป็นกาแฟร้าน Graph ดูข้างหน้าคือดูไม่ออกว่ามีอะไรพิเศษ มันดูเรียบ ๆ แต่พอเข้าไปข้างใน Space ของอาคาร หลายละเอียดต่างๆ แล้วได้งานตกแต่งเข้าไปเพิ่มก็ยิ่งน่าสนใจเข้าไปอีก
ย่านสันป่าข่อยกว้างแค่ไหน และบุคลิกคนสันป่าข่อยเป็นอย่างไร
แต่ก่อนก็เคยคิด แบบว่าย่านเราถึงหน้าสถานีรถไฟเลยไหม ก็ไม่ใช่ น่าจะประมาณเลยสี่แยกตลาดไปนิดหน่อยถึงแค่ตรงนั้นแค่หน้าปั๊มเชลล์ ถ้าไปทางใต้ก็แถว ๆ ค่ายกาวิละ ถ้าริมน้ำปิงก็ถึงแค่หน้าโบสถ์หนึ่ง (คริสต์จักรที่ 1) ถ้าเกินจากนั้นเป็นย่านวัดเกตฯ ถ้าทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ไปถึงแถว ๆ ซายูริ และสุเหร่าบ้านฮ้อ อันนี้จากความรู้สึกของเรานะ ก็ไม่รู้ว่าคนอื่นเขานิยามเหมือนเราหรือเปล่าส่วน Character คนสันป่าข่อย เรามองว่าคนสันป่าข่อยเป็นคนค้าขาย เน้นค้าขายเช้าเปิดร้านเย็นปิดร้าน แต่เป็นคนค้าขายแบบ ค้าส่ง ค้าขายของหนัก อุตสาหกรรม อันนี้เป็นภาพของคนรุ่นพ่อรุ่นปู่นะคะ เพราะเราจะมีภาพติดตาอย่างคุณพ่อขายเครื่องจักรกลเกษตร มีหลายคนขายอะไหล่รถยนต์ค่ายใหญ่ อะไรที่ Support เครื่องจักรต่างๆ ในขณะที่คนจีนที่มีอาชีพค้าขายเหมือนกันแต่อยู่ย่านกาดหลวง ตรงนั้นจะเป็นคนขายของกินของใช้ เป็นกิจการค้าปลีก ก็จะเป็นคนละสไตล์
คนสันป่าข่อย พ.ศ นี้ สัดส่วนจำนวนผู้เช่า หรือเจ้าของเดิม แบบไหนเยอะกว่ากัน
ถ้าตึกของเราผู้เช่าจะเยอะกว่าแน่นอน ถ้าให้คิดถึงตึกรอบๆ เราก็ยังรู้สึกว่าคนค้าขายยังเป็นคนเก่าคนเดิม สไตล์อากงอาม่ามาเปิดร้านเพราะเป็นกิจวัตร ทำไปแก้เบื่อ และตัวเองก็ยังอยู่ในร้าน ให้ลูกจ้างขายไป ตกเย็นก็ปิดร้านขึ้นไปนอนชั้นบนไม่ก็ลูกหลานมารับกลับไปอยู่บ้าน แต่ร้านอาหารใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นก็คิดว่าน่าจะเป็นผู้เช่าเยอะกว่าเจ้าของตึกค่ะ
คนที่นี่รวมตัวกันแบบไหน ไปร่วมงานที่วัด หรือมีคณะกรรมการชุมชน มีจัดประชุม มีอะไรแบบนั้นหรือเปล่า
มีความรู้สึกว่าที่ผ่านมาทุกคนก็ทำค้าขายของตัวเองไป ที่วัดมีงานอยู่บ้าง แต่บ้านเราก็ไม่ได้ไปร่วมสักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่อยู่แถวตลาด เวลาเขามีอะไร เขาจะต้องไปที่วัดสันป่าข่อย ไม่ว่าจะเป็นทำบุญ สืบชะตา หรืองานศพ ส่วนเรื่องประธานชุมชน คณะกรรมการ หรือกลุ่มผู้ประกอบการสันป่าข่อยอันนี้ยังเคยได้ยินว่ามี
จริงๆ เราก็คิดเรื่องนี้ และคิดว่าอนาคตมันจะเป็นประโยชน์ อย่างที่ญี่ปุ่นเขาจะมีกลุ่มผู้ประกอบการชุมชน เวลามีงานสำคัญเขาจะมาประชุมกัน ยิ่งถ้าเป็นถนนที่มีร้านค้าติดกัน คือ เขาจะตั้งกลุ่มกันขึ้นมาเลย แล้วสลับกันเป็นประธาน จะช่วยกันดูแลจัดงานประจำปีปีละครั้ง รวมไปถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่าง เรื่องความสะอาด เรื่องการประกาศแจ้งข่าวสาร เป็นการรวมกลุ่มที่ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ด้านธุรกิจอย่างเดียว แต่ชุมชนก็ได้ประโยชน์ด้วย ซึ่งเราคิดว่าถ้ามี Community แบบนี้ที่สันป่าข่อยก็จะดีมาก
ลองประเมินความพร้อมของสันป่าข่อย พอจะมี Community แบบนั้นได้ไหม
คิดว่าตอนนี้ยังต้องทำความเข้าใจกันเพิ่ม ยังต้องเรียนรู้กัน อย่างที่ผ่านมาหลาย ๆ ร้านรู้จักกันอยู่แล้ว แต่เพิ่งมาไม่กี่ปีนี้เองที่มีร้านใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น และเราก็ไม่รู้จัก ก็น่าสนใจดีว่าเราจะร่วมกันอย่างไร
คนรุ่นคุณพ่อ หรือผู้หลักผู้ใหญ่ เขา Surprise กับความเปลี่ยนแปลงไหม ที่มีร้านใหม่ ๆ แล้ววัยรุ่นวัยทำงานมาใช้บริการกันเยอะขนาดนี้
เขา Surprise ค่ะ ยกตัวอย่างตึกของเรา คุณพ่อเขาก็ตกใจเพราะตอนแรกเขาไม่ได้คิดว่าตึกเราจะน่าสนใจขนาดนั้น เพราะเขาก็ยังมีภาพจำร้านค้าเครื่องมืออุตสาหกรรม กับอะไหล่ยนต์ เราก็เข้าใจ และก็พยายามชวนคิดว่าที่ร้านใหม่ ๆ เขาสนใจตึกเราไม่ใช่เฉพาะเป็นตึกเก่า แต่เพราะเขาเข้าใจเสน่ห์ของที่นี่ และเห็นว่ามันจะส่งเสริมธุรกิจของเขา ส่วนตัวเราก็ได้พูดคุยกันกับผู้เช่า ดูแล้วสไตล์ไปด้วยกันได้ และมีความตั้งใจมากๆ อย่างร้านแรก ๆ ร้านวิถีลาบ ร้าน Building A ตอนนั้นยังไม่มีร้านอื่นๆ ด้านหลังอาคารขยะยังต่างๆ ยังกอง ๆ รอการจัดการ เขาก็ตั้งใจทำร้านเต็มที่ ปรากฏว่าที่จอดรถเต็ม คนมากันเยอะมาก พวกผู้ใหญ่เขาก็ตกใจว่ามาอะไรกันเยอะแยะ แค่มากินลาบแค่เนี่ยนะ เขาก็เริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าเด็กสมัยนี้ชอบแบบนี้
จริงๆ ตอนจะปรับเป็นให้เช่าแบบนี้ก็กังวลอยู่หน่อย ๆ แต่เราอาศัยว่าเราทำเลย ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ใหญ่ถาม (หัวเราะ) แต่สุดท้ายคุณพ่อก็ต้องเป็นคนเซ็นสัญญากับผู้เช่าอยู่ดี เราก็อาศัยว่าเราเลือกผู้เช่า เราเลือกแล้วว่าโอเค ต้องมียื่นแบบร้านว่าจะมาทำอะไรมาให้เราดูก่อน เราก็พิจารณาว่าแนวทางไปด้วยกันได้ไหม อย่าง Building A กับวิถีลาบ ถือว่าเป็นเครื่องยืนยันให้เรามั่นใจว่าเสน่ห์ที่เราอยากเก็บไว้ไปกันได้จริง ๆ กับธุรกิจยุคใหม่
ร้านที่เปิดใหม่ๆ ก็ดูจะกลมกลืนกันทุกร้าน กับเจ้าของตึกหลังอื่นเคยคุยกันมั้ย หรือเคยคุยกับคนแถวนี้ไหมว่าธุรกิจใหม่ๆ หรือร้านดื่มกิน ทำอะไรได้แค่ไหมถึงจะเหมาะสมกับย่าน
เราไม่ได้คุยกับตึกอื่นเลย แต่ก็คิดว่า ไม่รู้สิ ยังไม่มีร้านแบบนั้นมา ร้านกลางคืนเขาก็จะมีโซนของเขาอยู่แถวริมน้ำปิงยังไม่มาแถวนี้ เหตุผลหนึ่งอาจจะเพราะติดเรื่อง Zoning ใกล้ค่ายทหาร
อีก 5 ปี หรือ 10 ปี ภาพสันป่าข่อยในความคิดเป็นแบบไหน กับการปล่อยให้ธุรกิจเปิดๆ กันไป มีร้านใหม่ๆ เข้ามาเติม กับความพยายามรักษาเสน่ห์อัตลักษณ์ของย่าน มันจะไปด้วยกันอย่างไร
เรื่องการรวมกลุ่มผู้ประกอบการ คือจริงๆ แล้ว ก็สองจิตสองใจอยู่ สิ่งที่เราอยากรู้ก่อน ก็คือว่าความเป็นไปของคนที่อยู่แถวนี้จะเป็นยังไง คือจะยังคงเป็นย่านที่คนอยู่อาศัย ไปอีกสักพักไหม หรือว่าจริง ๆ แล้วส่วนใหญ่เหลือแต่อาม่าอากง แล้วเขาพร้อมย้ายออกแล้ว อยากเข้าใจตรงนี้ให้ชัดเจนก่อน และคิดว่าทุกคนที่อยู่ที่นี่ก็กำลังมองสิ่งนี้เหมือนกัน ถ้าวันหนึ่งเริ่มเห็นชัดแล้วว่าหน้าร้านพากันปิดหมด เพราะไม่มีใครทำอะไรต่อแล้ว เราอาจจะต้องช่วยกันคิดหาวิธีสร้างแรงจูงใจให้คนกลับเข้ามาอยู่ ทั้งลูกหลานที่จะมาอยู่อาศัยเอง หรือเริ่มธุรกิจ หรือจะให้เช่าก็แล้วแต่ ทำให้ traffic คนเข้ามาในย่านยังพอมีจะได้ไม่เงียบเหงา และต้องไม่ใช่แค่การดึงนักท่องเที่ยวมาเที่ยวต้องส่งเสริมให้คนได้มาอยู่อาศัยจริงๆ
สิ่งที่เราเห็นตอนอยู่ญี่ปุ่น คือหลาย ๆ เมืองมีปัญหาเรื่อง Aging Society เเละคนหนุ่มคนสาวก็ออกจากบ้านไปทำงานในเมืองย่านค้าขายของบ้านนอกต่าง ๆ หลายที่จึงซบเซา เพราะไม่มีใครมาแทนอากงอาม่า ประชากรก็เริ่มลดลงเรื่อย ๆ จนใกล้จะเมืองร้างเข้าไปทุกที ซึ่งเราก็ไม่อยากให้ย่านเราเป็นอย่างงั้น ส่วนตัวนะ อาจจะต้องช่วยกันมองว่าอนาคตของที่นี่จะเป็นยังไง จะว่าไปการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการนั้นก็ดี เพราะจะช่วยกำหนดทิศทางที่เราจะพัฒนาไปด้วยกันได้ดีขึ้น เรื่องนี้มันช่วยเราได้แน่นอน เพราะคนหนึ่งคนพูดเสียงจะเบา แต่ถ้าหลายคนพูดเสียงมันจะดังขึ้น
คราวนี้ก็ช่วยเหลือซึ่งกันและกันเรื่องการพัฒนาย่าน หรือแม้แต่การต่อรองกับราชการ ถ้าสมมติว่าเป็นกลุ่มเป็นก้อนได้ก็คิดว่าอะไร ๆ น่าจะดีกว่า เช่น ที่นี่ประปาชอบหยุดไหล โดนมาหลายรอบแล้ว คือจู่ ๆ น้ำก็ไม่ไหลขึ้นมาเฉย ๆ เราเองก็มีสำรองไว้ไม่เยอะ ไหนจะไฟดับอีก เคยถามเพื่อนที่ทำธุรกิจแถวนิมานฯ ว่ามีปัญหาแบบเราไหม เขาบอกว่าก็มีบ้างแต่ที่นู้นแก้ไขเร็ว เพราะคนช่วยกันโทรเครม ไม่ถึง 3 ชั่วโมงคือเรียบร้อย แต่ของเราไม่มีน้ำ 3 ชั่วโมง โทรไปถามเขา เขาก็บอกกำลังซ่อมอยู่ (หัวเราะ) คือถ้ารวมกลุ่มกันได้จริง ๆ คิดว่าจะเป็นเรื่องที่ดีกับย่านของเรามากๆ ค่ะ