ย้อนอ่านประวัติศาสตร์ “อาคารสำคัญย่านสันป่าข่อย”

พื้นที่ย่านสันป่าข่อยที่ชาวเชียงใหม่สามารถนึกถึงได้นั้นอาจมีความต่อเนื่องตั้งแต่บริเวณ ถนนเจริญเมือง (ถนนสันกำแพงเดิม) ตัดกับถนนเจริญราษฎร์และบรรจบกับสะพานนวรัฐ ไปทางเหนือรวมพื้นที่ย่านวัดเกตุจรดถนนแก้วนวรัตน์และลงไปใต้จนถึงยิมคาน่าและโรงไฟฟ้าบ้านเด่น ตลอดจนพื้นที่ชุมชนที่พักอาศัยโดยรอบเขตค่ายกาวิละ อาคารกลุ่มแรกที่เริ่มสร้างขึ้นในย่านสันป่าข่อยและเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง

กลุ่มอาคารของคณะมิชชันนารี อเมริกันเพรสบีสทีเรียน ที่เข้ามาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๑๐ แต่ได้มีการปลูกสร้างบ้านพักมิชชันนารีและโบสถ์คริสตจักรแห่งแรกซึ่งเป็นอาคารถาวรสร้างด้วยไม้สักบนพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิงในช่วงปี พ.ศ.​๒๔๓๐-๒๔๓๔  โดยที่ อาคารโบสถ์คริสต์หลังนี้เป็นหลังเดียวที่ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนเชียงใหม่คริสเตียน(Chiang Mai Christian School)  ซึ่งนับเป็นอาคารรูปแบบตะวันตกกลุ่มแรกในเมืองเชียงใหม่และได้รับการยกย่องเป็นสถาปัตยกรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๘ โบสถ์หลังนี้นับว่าเป็นสถาปัตยกรรมแบบชนบทอเมริกัน (American Country style) โดยในสมัยช่วงเวลานี้เริ่มมีการเข้ามาของบริษัทรับสัมปทานตัดไม้สักจากประเทศอาณานิคมตะวันตก ทำให้โครงสร้างอาคารยุคนี้มีวัสดุหลักคือไม้สักแปรรูปที่หาได้ง่ายเพราะบริษัทค้าไม้และโรงเลื่อยนั้นตั้งอยู่ในบริเวณริมแม่น้ำช่วงนี้

ต่อมา คือ กลุ่มอาคารที่พักอาศัยและเป็นโรงเรียนในระยะแรก คือ กลุ่มอาคารของมิชชันนารีที่ใช้สอนหนังสือไปด้วยในระยะแรกก่อนสร้างอาคารโรงเรียนซึ่งเป็นอาคารไม้สักเช่นเดียวกัน โดยเป็นบ้านไม้สองชั้นขนาดใหญ่ความยาว ๙-๑๐ ช่วงเสา กว้าง ๗-๘ ช่วงเสา ที่มีหลังคาแบบปั้นหยายาวคลุมระเบียง หน้าต่างสูงยาวและเปิดออก โดยใช้ระเบียงเป็นพื้นที่สอนหนังสือชั่วคราว  ซึ่งกลุ่มอาคารไม้เหล่านี้เคยอยู่ในบริเวณเดียวกันกับพื้นที่ซึ่งเป็นโบสถ์คริสตจักรที่ ๑ ในปัจจุบันนี้ ซึ่งเป็นลักษณะบ้านเรือนผสมระหว่างระบบโครงสร้างไม้แบบตะวันตกและเรือนพื้นถิ่นที่ถ่ายเทลมสะดวก

พื้นที่ย่านสันป่าข่อยในอดีตเป็นทุ่งนา แต่ต่อมากลายเป็นชุมชนขึ้นมา โดยเฉพาะด้านหลังของวัดเกตุเป็นย่านที่มีบ้านไม้สักหลายหลังและพื้นที่บริเวณนี้เป็นของบริษัทบริติชบอร์เนียวมาก่อนซึ่งต่อมากลายเป็นที่ของโรงเรียนดาราวิทยาลัยและโรงพยาบาลแมคคอร์มิค บางส่วนของพื้นที่นี้ยังมีกลุ่มที่ทำการของบริษัทบริติชบอร์เนียว เรียกกันว่า บ้านบอร์เนียวนั้นเป็นอาคารไม้สักซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่เนื่องจากเป็นที่พบปะของชาวต่างชาติที่มีชื่อเสียงสำคัญในสยามยุคนั้น[1] กลุ่มอาคารไม้ในพื้นที่ ๕ ไร่นี้ ต่อมาได้รับการบูรณะกลายเป็นโรงแรม บ้านร้อยเสา 137 Pillars และยังคงลักษณะสำคัญของเรือนไม้สักตะวันตกที่ผสมความเป็นอาคารพื้นถิ่นของย่านนี้ไว้ได้

นอกจากนี้ใช้ยังมีเรือนแถวไม้สำหรับค้าขายที่คนเชียงใหม่เรียกกันว่า เรือนแพ หรือ เฮือนแพ ซึ่งหมายถึงเรือนแถวไม้ที่สร้างเรียงติดกันเป็นแพ ซึ่งเคยมีอยู่ริมถนนในย่านสันป่าข่อยนี้ด้วย ซึ่งในปัจจุบันอาคารเรือนแพเหลือเพียงหลังเดียวบนถนนเจริญเมืองที่ยังรักษาไว้อย่างดี เรือนแถวไม้เป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาย่านชุมชนเมืองที่ขยายตัวตามระบบเศรษฐกิจใหม่ซึ่งเริ่มต้นประมาณ ๑๒๐ ปีที่ผ่านมาในช่วงยุคล่าอาณานิคมและความเฟื่องฟู อุตสาหกรรมป่าไม้ ส่วนใหญ่เป็นเรือนแถวหลังคาปั้นหยาและมีจั่วที่มุมบนสุดเพื่อระบายอากาศ จึงสามารถพบเห็นเรือนแถวไม้ในลักษณะเดียวกันที่ย่านใจกลางเมืองเก่าของภูมิภาคอื่นๆ เช่น เรือนแถวไม้ที่ ถนนดำเนินเกษม อำเภอเมืองเพชรบุรี, ถนนตลาดพลู เขตธนบุรีและถนนสู้ศึก อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น    

สถาปัตยกรรมยุคต่อมาในช่วงที่สยามได้ผนวกเอาเชียงใหม่และล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐได้ในปี พ.ศ. ๒๔๔๒ ทำให้มีการสร้างอาคารของรัฐเพิ่มขึ้นรองรับข้าราชการในระบบรวมศูนย์สู่ส่วนกลาง อาคารที่สร้างในยุคนี้มีลักษณะเด่น คือ สถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิค (Neoclassicism) ที่นำเอารูปแบบสถาปัตยกรรมที่มีพื้นฐานกรีก-โรมัน กลับมาใช้ใหม่ ซึ่งแบ่งได้ ๒ กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มแรก คือ สถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นตามการทำงานของมิชชันนารีอเมริกันและกลุ่มธุรกิจคนจีนที่เกี่ยวข้องรวมถึงบริษัทไม้สักของชาวตะวันตก โดยที่อาคารแบบนี้เป็นโครงสร้างคอนกรีต ก่ออิฐถือปูนมีระยะความสูงถึงฝ้าเพดานตามรูปทรงสัดส่วนตามแบบสถาปัตยกรรมคลาสสิค ส่วนใหญ่มีหลังคาทรงปั้นหยา มีมุขหน้าจั่วในอาคารใหญ่บางแห่งแต่ไม่มีการใช้ซุ้มโค้งและลวดลายปูนปั้นมากนัก ในตึกแถวบางแห่งพบว่ามีลวดลายคล้ายพันธุ์ไม้ของจีนในการทำราวระเบียง กลุ่มที่สอง คือ อาคารตามแบบอิทธิพลอาณานิคมอำพรางสยาม(Siam-Crypto Colonialism) ที่ลอกเลียนแบบสถาปัตยกรรมของประเทศผู้ล่าอาณานิคมตะวันตกมีรูปแบบคลาสสิคของยุโรปเป็นหลัก

อาคารที่ยังหลงเหลืออยู่ในย่านนี้ คือ อาคารที่อยู่ตรงหัวถนนเจริญเมือง ซึ่งอยู่ในพื้นที่เดิมเป็นบ้านพักมิชชันนารีและโรงเรียนสตรีพระราชชายา ของทางมิชชันนารี ที่ชุมชนเคยเรียกว่า โรงเรียนสตรีสันป่าข่อย ได้ย้ายไปสร้างใหม่บนถนนแก้วนวรัตน์ เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนดาราวิทยาลัย โดยอาคารหลังนี้ถูกสร้างขึ้นมีความประสงค์ให้เป็นศูนย์การแพทย์ในย่านนี้หลังจากที่โรงพยาบาลอเมริกันมิชชั่นได้ย้ายไปที่ถนนแก้วนวรัตน์และเปลี่ยนชื่อเช่นกัน เป็น โรงพยาบาลแมคคอร์มิค ปัจจุบันทางโรงพยาบาลเป็นผู้ดูแลและปรับปรุงอาคารเป็นร้านกาแฟและพื้นที่สำหรับกิจกรรมชุมชนและเยาวชน แมคคานาฮาน ค้อฟฟี่ 

นอกจากนี้ อาคารราชการจากส่วนกลางเมื่อสยามสามารถยึดอำนาจปกครองล้านนาได้อย่างเด็ดขาดจึงทำให้ต้องมีที่ทำการราชการมากขึ้นที่เป็นสาธารณูปโภค มีองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมคลาสสิคของประเทศผู้ล่าอาณานิคมตะวันตกซึ่งรัฐส่วนกลางของสยามยืมมาใช้เป็นสัญลักษณ์ที่แทนอำนาจรัฐท้องถิ่นเดิมของเจ้าผู้ครองนคร อาคารเหล่านี้มีลักษณะเด่น เช่น ผังอาคารมีมุขหน้าแบบหน้าจั่วปูนปั้นที่มีมุมจั่วป้านแบบวิหารกรีก-โรมัน หน้าต่างและประตูมีช่องแสงโค้งเป็นส่วนหนึ่งของวงกลม บางที่มีกรอบช่องแสงเป็นไม้ฉลุลายอย่างละเอียด ซึ่งรัฐสยามได้สร้างขึ้นในพื้นที่ใจกลางเมืองเก่าเชียงใหม่ คือ กลุ่มอาคารศาลาว่ากลางเก่าและอาคารศาลแขวงเก่า ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นหอศิลปะวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่และพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา อาคารที่มีลักษณะนี้ยังมีต่อมาในพื้นที่ริมแม่น้ำฝั่งตะวันตกตรงข้ามกับวัดเกตุ เช่น ที่ทำการไปรษณีย์และอาคารกาชาด อาคารแบบนีโอคลาสสิคที่เป็นแบบอาณานิคมอำพรางสยาม (Siamese Crypto-Colonial Style) มีไม่มากนักในย่านสันป่าข่อยและถนนเจริญเมือง อาคารสำคัญแบบนี้ในย่านคือ ตึกกองบัญชาการในค่ายกาวิละ ซึ่งสร้างในราวปี พ.ศ. ๒๔๕๐ บนที่ดินที่นายอากร เต๊กกิมเซ่งหลียกให้ และอาคารพาณิชย์ชั้นเดียวริมถนนเจริญเมืองในปัจจุบันเหลืออยู่ ๓ คูหา มีลวดลายฉลุที่กระจังช่องแสงโค้งเหนือประตูทางเข้าเป็นชื่อจีนแต่ใช้อักษรอังกฤษ

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.​๒๔๗๕ ทางคณะราษฎรเข้ามามีอำนาจในการปกครองประเทศ ได้ส่งนายทหารในคณะราษฎรเข้ามาเป็นผู้บัญชาการค่ายกาวิละ รูปแบบสถาปัตยกรรมของกลุ่มอาคารตึกแถวที่หัวมุมสี่แยก ๒ แห่ง ของ ถนนเจริญเมือง คือที่สี่แยกถนนสันป่าข่อยและสี่แยกถนนบำรุงราษฎร์-ถนนนายพล สะท้อนอิทธิพลสถาปัตยกรรมในรูปแบบ อาร์ตเดคโค (Art Deco) ซึ่งคล้ายกับกลุ่มตึกแถวที่ริมถนนราชดำเนินกลางในเขตเมืองเก่ากรุงรัตนโกสินทร์ โดยที่กลุ่มตึกแถวหัวมุมด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของสี่แยกสันป่าข่อยยังเป็นของครอบครัวอดีตผู้บัญชาการค่ายกาวิละจนถึงปัจจุบัน ตึกแถวโครงสร้างคอนกรีตชุดนี้มีรูปแบบพิเศษที่ตึกแถวหัวมุมอาคารมีการปาดมุมโค้งและมีแผงคอนกรีตกันแดดแนวนอนและระเบียงตามความโค้งนี้ รูปแบบหน้าต่างประตูช่องแสงเน้นแนวแกนตั้งและแบ่งช่องหน้าต่างค่อนข้างถี่    

นโยบายของรัฐมีการเปลี่ยนแปลงและเน้นการพัฒนาประเทศเมื่อมีการปฏิวัติในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ โดยหนึ่งในนโยบายรัฐ คือ การพัฒนาสถาบันการศึกษาในท้องถิ่น และการก่อสร้างขยายถนนเชื่อมเมืองต่างๆ โดยที่เริ่มมีการสำรวจพื้นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ใน ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ การก่อสร้างกลุ่มอาคารต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีแบบใหม่ และการสร้างถนนเชื่อมต่อเมืองขนาดใหญ่ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างขยายตัวมาก ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๔-๒๕๑๒ อาคารในย่านนี้เดิมเป็นอาคารเรือนแถวไม้และก่ออิฐถือปูน สูงไม่เกิน ๒​ชั้น ได้รื้อสร้างใหม่เป็นตึกแถวสมัยใหม่เป็นอาคารสูง ๓ ถึง ๔ ชั้น โดยมีอาคารหลายห้องที่มีรูปแบบที่น่าสนใจซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีการใช้เทคนิคในการหล่อคอนกรีตที่บางลงในการทำแผงกันแดด การทำคานซอยเพื่อลดขนาดของโครงสร้างคานและพื้น โดยมีงานสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ คือ รูปแบบของการหล่อแผงกันแดดเป็นแนวตั้งยาวซึ่งมีความประณีตในการถอดไม้แบบของตัวแผงกันแดดและโครงสร้างคาน การใช้วัสดุอุตสาหกรรมประยุกต์ให้เป็นแผงกันแดด เช่น อาคารตึกแถวเท่งฮวดหลี 

สถาปัตยกรรมของย่านสันป่าข่อยและถนนเจริญเมืองเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของภูมิทัศน์เมืองเชียงใหม่ที่บ่งบอกและสื่อถึงประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงของเชียงใหม่ช่วงรอยต่อจากยุคจารีตของอาณาจักรล้านนาเข้าสู่ยุครัฐชาติสมัยใหม่ของสยาม รูปแบบสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกันของแต่ละยุคสมัยในย่านนี้สะท้อนถึงสภาพสังคม ประชากร ระบบเศรษฐกิจและการเมืองการปกครองที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย โดยเริ่มจากการเข้ามาของกลุ่ม มิชชันนารี นิกายเพรสบีสทีเรียนชาวอเมริกันและการขยายตัวของบริษัทค้าไม้ตะวันตกที่มากับรัฐผู้ล่าอาณานิคมในพื้นที่เพื่อนบ้านที่ทำให้รัฐสยามต้องเข้ามาควบคุมพื้นที่ล้านนามากขึ้นจนควบรวมเชียงใหม่เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยาม ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในส่วนกลางที่มีผลกระทบต่อนโยบายสำคัญของรัฐในการพัฒนาท้องถิ่นอย่างเมืองเชียงใหม่จนมาถึงปัจจุบัน

เขียนและเรียบเรียงโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรสิทธิ์ ตันตินิพันธุ์กุล


[1] ที่มา https://readthecloud.co/137-pillars-house/ และ https://www.futurarc.com/project/137-pillars-house-sustainability/