สันป่าข่อย

เมืองเชียงใหม่มีการพัฒนามาอย่างยาวนานกว่า 700 ปี แต่เมืองเชียงใหม่ที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงและเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าสู่ยุคสมัยใหม่นั้นเกิดในพื้นที่ด้านตะวันออกของตัวเมืองตั้งแต่บริเวณริมสองฝั่งแม่น้ำปิงตามแนวถนนเจริญเมืองไปจนถึงสถานีรถไฟเชียงใหม่ ย่านนี้กลายเป็นต้นกำเนิดของสาธารณูปโภคและสาธารณูปการต่างๆ ที่เป็นโครงข่ายพื้นฐานสำหรับการพัฒนาเมืองสมัยใหม่และเป็นพื้นที่ที่เปิดรับกระแสการเปลี่ยนแปลงจากโลกภายนอกที่เริ่มต้นจากการเข้ามาของชาวตะวันตกซึ่งมีบริษัทรับสัมปทานตัดและค้าไม้สักของอังกฤษและมิชชันนารีอเมริกันซึ่งได้เริ่มตั้งถิ่นฐานในปี พ.ศ. 2407 เป็นต้นมาซึ่งมีผลทำให้มีชาวต่างชาติต่างถิ่นที่หลากหลายเข้ามาทำงานและประกอบธุรกิจ กับ ชุมชนชาวตะวันตกจนเกิดเป็นชุมชนใหม่ที่มีพลวัตในขับเคลื่อนสังคมเศรษฐกิจของเมืองเชียงใหม่มาจนถึงปัจจุบัน

พื้นที่ย่านสันป่าข่อยและวัดเกตุจึงนับได้ว่าเป็นพื้นที่สำคัญในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของเมืองเชียงใหม่เพราะเป็นพื้นที่ในช่วงรอยต่อที่เมืองมีการพัฒนาจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจของอาณาจักรล้านนาซึ่งเป็นรัฐจารีต ประเทศราชเดิมภายใต้อาณาจักรอยุธยาหรือสยาม เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงจากภายนอก เชียงใหม่จึงได้ก้าวไปสู่ความเป็นเมืองศูนย์กลางของภูมิภาคเหนือทั้งการปกครอง เศรษฐกิจและสังคมในรัฐชาติสมัยใหม่ของประเทศสยามหรือประเทศไทยในเวลาต่อมา ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของเชียงใหม่ ได้เริ่มต้นจากพื้นที่ริมแม่น้ำปิง ชุมชนสันป่าข่อยและวัดเกตุจนถึงปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยสามารถแบ่งได้เป็น 3 ช่วงเวลาสำคัญ

เชียงใหม่ภายใต้รัฐจารีตล้านนาและรัฐอาณานิคมตะวันตก: ต้นกำเนิดชุมชนทันสมัยริมแม่น้ำปิง พ.ศ. 2407-2440

การล่าอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศสในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นปัจจัยหลักต่อการเปลี่ยนแปลงของเชียงใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อ อังกฤษเข้ายึดพม่ารวมถึงหัวเมืองของไทใหญ่ที่ล้านนาถือเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสำเร็จและฝรั่งเศสเข้ายึด เวียดนาม ลาวและกัมพูชา และมีการตัดลากไม้สักจากพื้นที่ป่ารอยต่อของพม่ากับอาณาเขตของอาณาจักรล้านนา ไม้สักในป่ากลายเป็นสินค้าที่ต้องการในยุโรป  อังกฤษจึงผลักดันให้สยามเข้ามาจัดการการปกครองล้านนาเพื่อการทำธุรกิจที่มีผลตอบแทนสูงอย่างสัมปทานไม้สัก บริษัทค้าไม้บริติชบอเนียวซึ่งรับสัมปทานตัดไม้จากอังกฤษขยายตัวจากธุรกิจไม้ในประเทศเพื่อนบ้านได้เริ่มเข้ามาในเชียงใหม่ตั้งแต่ พ.ศ. 2407[1] การติดต่อค้าขายเพิ่มมากขึ้นพร้อมกับข้อพิพาทที่มากด้วยเช่นกัน จนทำให้เกิดสัญญาเชียงใหม่ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2416) ที่อังกฤษและชาติตะวันตกได้รับสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในล้านนา จึงยอมรับอำนาจของสยามในการจัดการข้อพิพาทต่างๆและฉบับที่ 2 (พ.ศ.2426) มีการตั้งข้าหลวงจากสยามมาประจำ เพื่อจัดเก็บภาษีอากรและการจัดการป่าไม้ เป็นการดึงอำนาจบริหารจัดการเศรษฐกิจหลักออกจากอำนาจของเจ้าล้านนามาข้าราชการจากกรุงเทพฯ  ซึ่งทำให้การค้าขยายตัวมากขึ้นไปอีก บริษัทต่างชาติเหล่านี้ เช่น บริติชบอร์เนียว บอมเบย์เบอมาร์ (เข้ามาเมื่อ พ.ศ. 2434) และสยามฟอเรสต์ตั้งสำนักงานในเมืองเชียงใหม่ในพื้นที่ริมแม่น้ำปิง โดยเฉพาะด้านตะวันออกของเมืองเก่าในบริเวณรอยต่อถนนเจริญเมืองและสะพานนวรัตน์ในปัจจุบันที่มีบริษัทบริติชบอร์เนียวและบ้านของมิชชันนารีตั้งอยู่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2439 รัฐบาลสยามจึงได้ตั้งกรมป่าไม้ขึ้นที่เชียงใหม่มี นาย เฮช สเล็ด (H. Slade) ผู้เชี่ยวชาญชาวอังกฤษที่อินเดียมาจัดการระบบการสัมปทานป่าไม้ที่ชัดเจน ในส่วนของสถานกงสุลอังกฤษได้ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2426-27 ในพื้นที่ริมแม่น้ำปิงบริเวณฝั่งตะวันตกตอนใต้ลงมาจากถนนท่าแพและในปีถัดมา ทางรองกงสุลอังกฤษได้จัดตั้งระบบไปรษณีย์เชื่อมต่อเชียงใหม่และกรุงเทพขึ้นจนสำเร็จ

มิชชันนารีอเมริกันเริ่มเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ โปรเตสแตนท์ นิกายเพรสบีสทีเรียน ในปี พ.ศ. 2410 โดย ศาสนาจารย์ แดเนียล แมคกิลวารีและครอบครัว ซึ่งเรียกโครงการนี้ว่า มิชชั่นลาว (Mission Laos) ได้ตั้งบ้านอย่างถาวรอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิงในปี พ.ศ. 2418 ต่อมาตั้งโบสถ์คริสต์แห่งแรกและสร้างบ้านพักแก่เจ้าหน้าที่และบาทหลวงที่มาใหม่อย่างถาวร ในย่านวัดเกตุ และยังสร้างโรงเรียนสตรีบนพื้นที่ริมแม่น้ำฝั่งตะวันออกในเวลาหนึ่งปีต่อมามิชชันนารีอเมริกันรุ่นที่สอง คือ คุณหมอ เมเรียน อลองโซ ชีค กลายเป็นตัวแทนของบริษัทบริติชบอร์เนียว ในปี พ.ศ. 2427 คุณหมอชีค ได้สร้างบ้านของตัวเองต่อมาสร้างโรงพยาบาลอเมริกันมิชชั่นและโรงเรียนชายวังสิงห์คำบนพื้นที่ริมน้ำปิงฝั่งตะวันตกและสร้างโรงเลื่อย โรงสี อู่ต่อเรือ บนที่ตรงข้ามแม่น้ำปิงฝั่งตะวันออก สร้างสะพานไม้สักเชื่อมสองฝั่ง และในที่สุดสร้างโรงพิมพ์ด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้สร้างเสร็จในราวปี พ.ศ. 2432-34 นอกจากงานก่อสร้างไม้ที่รวดเร็วขึ้นมาก หมอชี้คได้นำเครื่องจักรและเครื่องใช้ไฟฟ้ามาขายที่เชียงใหม่[2] จึงทำให้สันนิฐานได้ว่า มีไฟฟ้าใช้ในย่านสันป่าข่อยและวัดเกตุอย่างแน่นอน ตั้งแต่ปีราว พ.ศ. 2430 

ด้วยสถานภาพทางกฎหมายที่มั่นคงขึ้น การติดต่อสื่อสารทางไปรษณีย์โทรเลขที่ดีขึ้น การมีท่าเรือและมีเรือกลไฟทำให้การคมนาคมทางแม่น้ำปิง จากกรุงเทพฯและภาคกลางมาเชียงใหม่สะดวกขึ้น ชุมชนชาวตะวันตกจึงขยายตัวขึ้นมารองรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ในป่าและงานของมิชชันนารีมากขึ้น คนกลุ่มวัฒนธรรมจีนในพื้นที่ซึ่งเดิมเป็นพ่อค้ามาจากยูนนานและทำงานการค้าเส้นทางเมาะละแหม่งให้กับเจ้านายตลอดจนขุนนางในเมืองเก่าได้เปลี่ยนไป มีคนจีนโพ้นทะเลที่มีพื้นเพหลากหลาย อพยพมาจาก กรุงเทพฯ ภาคกลางและภาคอื่นๆ เข้ามาทำธุรกิจกับพ่อค้ารวมถึงมิชชันนารีชาวตะวันตกและกลุ่มข้าราชการสยามที่เพิ่มขึ้นเพื่อมาแทนที่ระบบเค้าสนามหลวงหลังสนธิสัญญาเชียงใหม่ ฉบับที่ 2 และการตั้งระบบราชการแบบเทศาภิบาลมณฑล นอกจากกลุ่มคนจีนที่มาทำการค้า ยังมีกลุ่มคนในท้องถิ่นทั้งคนพื้นเมืองและคนจีนที่เข้าอยู่ในพื้นที่เพราะเครือข่ายการช่วยเหลือของมิชชันนารี ทั้งการศึกษาและการรักษาพยาบาล หนึ่งในนั้น เป็นคหบดีจีนที่ลำพูนที่ ศาสนาจารย์ แมคกิลวารีรักษาจนหายและกลายเป็นผู้อุปถัมภ์ทางการเงินแก่กลุ่มมิชชันนารี ในที่สุดย้ายมาเชียงใหม่ อาศัยในย่านวัดเกตุและทำการค้าในย่านสันป่าข่อยจนทายาทรุ่นต่อๆมากลายเป็นตระกูลสำคัญของเชียงใหม่[3] มิชชันนารียังมีเครือข่ายกับกลุ่มพ่อค้าชาวจีนที่ล่องเรือนำสินค้ามาจากกรุงเทพและเมาะละแหม่งอีกด้วย

 พื้นที่ย่านสันป่าข่อยและวัดเกตุจึงกลายเป็นชุมชนของคน 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1) กลุ่มชาวตะวันตกและมิชชันนารี 2) คนจีนที่ทำการค้ากับบริษัทของชาวตะวันตกและมิชชันนารี และ 3) กลุ่มคนพื้นเมืองเชียงใหม่ที่เข้ารีตและ/หรือทำงานให้กับมิชชันนารีและบริษัทค้าไม้ โดยตัวสถาปัตยกรรมสำคัญเป็นอาคารบ้านไม้สัก อาคารไม้ผสมปูนแบบตะวันตกผสมพื้นถิ่นและเรือนแถวไม้ปลูกเป็นแพติดกัน การคมนาคมทางน้ำยังเป็นเส้นทางหลัก ท่าเรือและพื้นที่ริมน้ำจึงมีความสำคัญกับย่านชุมชน

เชียงใหม่ภายใต้รัฐอาณานิคมสยาม : การก่อตัวของพื้นที่ชุมชนสันป่าข่อย พ.ศ. 2440-2475

ในปี พ.ศ. 2437 เชียงใหม่รวมถึงหัวเมืองประเทศราชล้านนา ทั้ง 5 เมืองได้แก่ เมืองลำพูน เมืองลำปาง เมืองแพร่ เมืองน่าน ได้ถูกจัดเข้าเป็นระบบการปกครองส่วนหนึ่งของสยาม โดยมีชื่อว่ามณฑลลาวเฉียง

ต่อมาได้รวมเมืองเถินอีกเมืองและเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลพายัพ ในปี พ.ศ. 2442 ซึ่งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองการปกครองในระดับภูมิภาคและประเทศภายใต้กรอบของรัฐชาติสมัยใหม่ปรากฏได้ชัดเจนจากสภาพทางกายภาพที่เปลี่ยนไปของเมืองเชียงใหม่ ข้าหลวงสยามที่ส่งขึ้นมาในระยะแรกหลังสนธิสัญญาเชียงใหม่ยังไม่มีอำนาจมากนอกจากกิจการศาลแต่ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และลดอำนาจเจ้าเมืองลง โดยควบคุมกิจการสัมปทานป่าไม้ เปลี่ยนระบบภาษีส่งรายได้เข้าส่วนกลางและการเกณฑ์ทหาร ทำให้คนพื้นเมืองในระบบไพร่ที่เคยต้องพึ่งพามูลนายและเจ้านายผู้ปกครองท้องถิ่นกลายเป็นพลเมืองในระบบรัฐสมัยใหม่ของสยาม ซึ่งเริ่มเห็นผลตั้งแต่ราว พ.ศ. 2421 การขยายตัวของระบบสาธารณูปโภคเพื่อรองรับข้าราชการจากส่วนกลางทำให้พื้นที่รอบเมืองจึงเกิดชุมชนที่เป็นอิสระในการทำการค้าขายมากขึ้นกับแหล่งทุนที่ขยายใหญ่ขึ้น คือ บริษัทต่างชาติและตัวแทนต่างๆ เช่น บริษัทอีสต์เอเชียติกของเดนมาร์กและ กงสุลฝรั่งเศส มิชชันนารีอเมริกันที่ขยายงานเผยแพร่ศาสนาคริสต์ไปยังเมืองอื่นๆ และข้าราชการจากส่วนกลาง ซึ่งชุมชนสันป่าข่อยเป็นชุมชนหนึ่งที่พัฒนาขึ้นมาจากการเปลี่ยนแปลงนี้

นอกจากนี้ ในตอนใต้ของชุมชนยังมีการก่อตั้งสโมสรยิมคานา โดยมีกลุ่มเรียกตัวเองว่า the Gentlemen ประกอบไปด้วยนักธุรกิจชาวอังกฤษ มิชชันนารีอเมริกันและชนชั้นสูงของสยามและล้านนา ในปี พ.ศ. 2441 ซึ่งเป็นสถานที่พบปะของกลุ่มชนชั้นสูงและชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในเชียงใหม่นับเป็นสโมสรกีฬาแห่งแรกๆในสยาม โดยมีการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่ดินในนามของพระยาทรงสุรเดช ข้าหลวงมณฑลลาวเฉียงซึ่งร่วมเป็นผู้ก่อตั้งและมี ศาสนาจารย์แฮริส เป็นกรรมการด้วย ซึ่งการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่ดินได้เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2444  ในปีนี้ เจ้าหลวงองค์ใหม่ได้รับแต่งตั้งจากกรุงเทพฯ คือ เจ้าอินทวโรรส ได้เดินระบบไฟฟ้าในนครเชียงใหม่[4] โดยสันนิฐานว่า คือ ระบบที่ต่อมาจากสถานีที่โรงจักรไฟฟ้าบ้านเด่นตอนใต้ของย่านสันป่าข่อยนี้ นอกจากนี้ เจ้าหลวงยังได้ยกที่เวียงแก้วในใจกลางเมืองให้หน่วยงานราชการส่วนกลางเข้าไปใช้แทนวัง หน่วยงานส่วนกลางหลายแห่งจึงได้ย้ายจากพื้นที่ริมแม่น้ำปิงฝั่งตะวันตกเข้าไปในเมือง

เมื่อมีการปรับการปกครองและตั้งข้าหลวงใหญ่เทศาภิบาลมณฑลพายัพคนใหม่ คือ พระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ซึ่งเป็นข้าหลวงมณฑลพิษณุโลกเดิม พระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ ได้ทำการปฏิรูปการปกครองและริเริ่มการพัฒนาหลายประการ โดยในปี พ.ศ. 2445 มีนโยบาย “น้ำต้อง กองต๋ำ” ขยายถนนเชื่อมเมืองรอง ทำให้เกิดถนนเชื่อมต่อจากถนนท่าแพบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำปิงลงใต้ไปยังเมืองลำพูนและถนนเจริญเมืองไปทางตะวันออกถึงอำเภอสันกำแพง เกิดแกนกลางของย่านสันป่าข่อยที่ชัดเจนและกลายเป็นถนนธุรกิจแห่งใหม่ของเชียงใหม่ไปโดยปริยาย ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงนี้ นักธุรกิจคนสำคัญของเมืองเชียงใหม่ คือ หลวงอนุสารสุนทร ได้เริ่มสร้าง ตึกแถวเป็นโครงสร้างก่ออิฐฉาบปูนแบบโคโลเนียล ขึ้นมาในราวปี พ.ศ. 2440-2445 ท่ามกลางเรือนแถวไม้แต่เดิมที่มีอยู่สองข้างถนนเจริญเมือง ต่อมามีพระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาลเมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2458 เพื่อจัดการระบบสาธารณูปโภคในเมือง

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงระบบทั้งภาษีและเกณฑ์ทหารนี้ยังมีปัญหาอยู่มาก เช่น พื้นที่รอบนอกของเชียงใหม่และชายแดนล้านนาบางส่วนโดนภาษีที่เก็บซ้ำซ้อนจนเกิดกบฏร้ายแรง ถึง 2 ครั้ง คือ กบฏพญาผาบ ปี พ.ศ. 2432 และ กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ ปี พ.ศ. 2445 ซึ่งทำให้เกิดการจัดตั้งกองกำลังจากส่วนกลางเพื่อดูแลความเรียบร้อย คือ กรมบัญชาการทหารบก มณฑลพายัพ ในปี พ.ศ. 2446 ต่อมาคือ ค่ายกาวิละ ในพื้นที่ตอนใต้ของสันป่าข่อยลงไปถึงสโมสรยิมคาน่าและโรงไฟฟ้าบ้านเด่น ซึ่งทั้งค่ายทหาร สโมสรกีฬา ยิมคาน่าและโรงไฟฟ้าบ้านเด่นได้กลายเป็นแหล่งงานสำคัญในพื้นที่ตอนใต้ของสันป่าข่อย และเป็นพื้นที่สีเขียวที่สำคัญของย่านนี้

การเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองของล้านนาไปสู่มณฑลพายัพของสยาม มีผลต่อการทำงานของมิชชันนารีอเมริกันด้วยเช่นกัน เมื่อ ชื่อโครงการเดิมต้องถูกเปลี่ยนจาก มิชชั่นลาว (Lao Mission) เป็น มิชชั่นสยามเหนือ (North Siam Mission) ในปี พ.ศ.​2456 ต่อมาเมื่อการดำเนินงานโรงเรียนของมิชชันนารีประสบความสำเร็จมีนักเรียนมากขึ้น แต่ที่ดินริมแม่น้ำปิงฝั่งตะวันตกและตะวันออกมีขนาดเล็กขยายตัวไม่ได้มาก ในที่สุดทางมิชชันนารีจึงได้ย้ายโรงเรียนทั้งโรงเรียนสตรีและโรงเรียนชายวังสิงห์คำไปยังพื้นที่ฝั่งตะวันออกซึ่งใหญ่กว่า โดยโรงเรียนชายวังสิงห์คำ ได้ย้ายไปใช้พื้นที่กว่า 90 ไร่ ซึ่งซื้อจากบริษัทบริติชบอร์เนียวและที่รอบข้างบนถนนแก้วนวรัตนในปี พ.ศ. 2448 โดยเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนปรินส์รอยแยลวิทยาลัย ในส่วนของโรงเรียนสตรีของมิชชันนารีที่ตั้งขึ้นมาในปี พ.ศ.2421 ได้ขยายไปยังพื้นที่ตอนเหนือของย่านสันป่าข่อยด้วยเช่นกัน โดยซื้อที่ดินบนถนนแก้วนวรัตน์ ไม่ไกลจากโรงเรียนปรินส์รอยแยล ในปี พ.ศ. 2464 และเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนดาราวิทยาลัย โดยทั้งสองโรงเรียนได้เลิกสอนภาษาท้องถิ่นล้านนาและใช้ภาษาไทยกลางซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลสยาม นอกจากนี้ โรงพยาบาลอเมริกันมิชชั่นที่มิชชันนารีได้สร้างขึ้นริมแม่น้ำปิงได้เจริญก้าวหน้าขึ้นถึงขั้นที่สามารถผ่าตัดได้และเปิดเป็นโรงเรียนแพทย์ในปี 2459 จึงได้ย้ายมาตั้งในบริเวณเดียวกันบนถนนแก้วนวรัตน์ อยู่ระหว่าง โรงเรียนปรินส์รอยแยลและ ดาราวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2467 และเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลแมคคอมิคตามชื่อผู้บริจาคเงินคนสำคัญ ย่านสันป่าข่อยตอนเหนือ จึงเป็นที่ตั้งของ แหล่งงานสำคัญ คือ โรงพยาบาลและโรงเรียนขนาดใหญ่ถึงสองแห่ง

นอกจากนี้ ในช่วงปี พ.ศ. 2450-2460 นั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากของย่านนี้อย่างมีนัยยะสำคัญ คือ มีตลาดสำคัญถูกสร้างขึ้นนอกกำแพงเมืองเชียงใหม่ คือ ตลาดวโรรสและตลาดสันป่าข่อย โดยที่ตลาดวโรรสสร้างบนที่ดินซึ่งเป็นข่วงเมรุและสุสานหลวงของกลุ่มเจ้าเมืองเดิมในปี พ.ศ.2453 ในขณะที่ ตลาดสันป่าข่อยสันนิฐานว่าถูกสร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2463-2468[5] โดย คหบดีคนสำคัญ คือ พระพิจิตรโอสถซึ่งมีความสัมพันธ์กับผู้ปกครองท้องถิ่น คือ เจ้ากาบแก้ว ณ ลำพูน ร่วมทุนกับ ข้าราชการชั้นสูงจากกรุงเทพ ซึ่งแสดงได้ว่า มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจของชุมชนมีมากจนต้องการสถานที่เพื่อค้าขายสินค้าและกระจายสินค้า เดิมเป็นตลาดในชุมชนชื่อตลาดพระลอ เมื่อมีการสร้างเส้นทางรถไฟจากกรุงเทพฯมาถึงเชียงใหม่จึงถูกพัฒนาขยายตัวขึ้น โดยกลุ่มข้าราชการจากกรุงเทพฯและเจ้านายท้องถิ่น เมื่อเส้นทางรถไฟสร้างเสร็จและเปิดใช้งานในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2464 โดยมีสถานีรถไฟซึ่งอยู่ด้านตะวันออกของแม่น้ำปิง เชื่อมต่อกับเมืองเก่าเชียงใหม่ ด้วยถนนเจริญเมืองที่วิ่งเข้าสู่ย่านท่าแพและตลาดวโรรส ตลาดและย่านสันป่าข่อยจึงเฟื่องฟูจนกลายเป็นแหล่งการค้าสำคัญเพราะเป็นพื้นที่ระหว่างสถานีรถไฟที่นำสินค้ามาจากภาคกลางไปสู่ตลาดใหญ่ในเมืองและไปยังเมืองรองใน 4 ทิศทางหลัก ด้านทิศตะวันออก คือ ไปถึงอำเภอสันกำแพง  ทิศ ตะวันออกเฉียงเหนือ ถึง อำเภอดอยสะเก็ด ทิศเหนือ ไปถึงเชียงดาวและฝาง และทิศใต้ ถึงที่ตัวเมืองลำพูน ในขณะเดียวกันยังเป็นพื้นที่สำหรับรวบรวมสินค้าเกษตรกรรมจากเชียงใหม่เพื่อส่งไปยังภาคกลางและกรุงเทพฯด้วย ริมถนนเจริญเมืองรอบๆจึงกลายเป็นเรือนแถวร้านค้าและมีโกดังสินค้าอยู่ด้านหลังเข้ามาในซอย พื้นที่ทางตะวันออกของย่านสันป่าข่อยบริเวณโดยรอบของสถานีรถไฟจึงมีการพัฒนาอย่างมาก มีโรงแรมรถไฟซึ่งเปิดใช้ในปี พ.ศ. 2469 นับเป็นโรงแรมแห่งแรกในเชียงใหม่ โดยเป็นอาคารไม้สักชั้นเดียวขนาดใหญ่และเป็นที่ประทับรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อเสด็จเยือนเชียงใหม่ มีอาคารครึ่งไม้ครึ่งตึกแบบโคโลเนียลอยู่ด้านข้าง คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ แบงค์สยามกัมมาจล สาขาเชียงใหม่ ซึ่งเป็นธนาคารแห่งแรกในเชียงใหม่ และสาขาต่างจังหวัดแห่งที่ 2 ของธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดทำการเมื่อ ปี พ.ศ. 2470 ต่อมาในปี พ.ศ. 2474 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเปิดสาขาที่เชียงใหม่เป็นหน่วยงานไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหน่วยที่สองของประเทศ ต่อจากนครปฐม โดยได้เช่าพื้นที่โรงผลิตไฟฟ้าจักรกลดีเซลบ้านเด่น จากหน่วยงานสุขาภิบาลท้องถิ่น เพื่อดำเนินงานต่อไป

ย่านสันป่าข่อยจึงเป็นพื้นที่แห่งความทันสมัยซึ่งแวดล้อมไปด้วย แหล่งงานที่สำคัญ คือ สถานที่ราชการ ค่ายทหาร สถานศึกษา โรงพยาบาล ตลาด สโมสรกีฬา ตลอดจนสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ตามแบบเมืองสมัยใหม่ เช่น ท่าเรือ โครงข่ายถนน ไปรษณีย์ โรงไฟฟ้า สถานีรถไฟ ในช่วงเวลานั้น ชุมชนในพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงไปเมื่อรถไฟมาถึงทำให้คนจีนจากพื้นที่ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศเข้ามาทำการค้าขายและตั้งถิ่นฐานได้ ทำให้เศรษฐกิจของเชียงใหม่เปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยขึ้นกับการค้าขายที่เมาะละแหม่งเป็นหลักและกรุงเทพฯ บ้าง แล้วล่องเรือมาขึ้นที่ท่าเรือวัดเกตุ กลายเป็นเกิดการแลกเปลี่ยนขายสินค้าที่มีจำนวนมากกับกรุงเทพฯ เป็นหลักเพราะ ขนส่งได้สะดวกกว่า เพราะการขนส่งโดยรถไฟสามารถทำได้แน่นอนและระวางบรรทุกได้ปริมาณมากกว่าทางเรือซึ่งมีปัญหาเดินทางในช่วงฤดูแล้ง โดยนำสินค้าอุปโภคบริโภคที่ทันสมัย รวมถึงวัสดุก่อสร้าง จากกรุงเทพฯ มาสู่เชียงใหม่ และ ขนสินค้าเกษตรลงไปภาคกลางและกรุงเทพฯ รัฐจากส่วนกลางได้สนับสนุนให้การทำเกษตรกรรมจากเพื่อเลี้ยงตัวเองกลายเป็นการผลิตเพื่อส่งขาย จึงจำเป็นต้องเก็บสินค้าจำนวนมากเพื่อรอส่ง ทำให้มีอาคารประเภทโกดังขนาดใหญ่ที่สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กเริ่มปรากฏให้เห็นหลังจากการมาถึงของรถไฟ อาคารคอนกรีตแบบโมเดิร์นเป็นอีกประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นที่ริมถนนเจริญเมืองไปยังสถานีรถไฟมากขึ้น ส่วนใหญ่ คือ ตึกแถวพาณิชยกรรมคอนกรีต อาคารราชการส่วนใหญ่ที่สร้างในเวลานี้เริ่มเป็นอาคารคอนกรีตแบบยุคสมัยใหม่ เช่น อาคารเดิมของสถานีรถไฟและอาคารโรงไฟฟ้าบ้านเด่น โดยยังมีอาคารรูปแบบตะวันตกและแบบโคโลเนียลอเมริกัน เช่น อาคารบัญชาการในค่ายกาวิละ อาคารเรียนที่สร้างใหม่ของโรงเรียนปรินซ์รอยแยลและโรงเรียนดาราวิทยาลัย

เชียงใหม่ภายใต้รัฐชาตินิยมและวาทกรรมการพัฒนา: ความรุ่งเรืองและของสันป่าข่อย 2475-2535

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญต่อเชียงใหม่ เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อ คณะราษฎรได้ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.​ 2475 จึงทำให้กลุ่มข้าราชการจากส่วนกลางกลายเป็นกลุ่มเครือข่ายของคณะราษฎรแทนที่กลุ่มเจ้านายกรุงเทพฯ และต่อมามณฑลพายัพถูกยุบ ตั้งจังหวัดเชียงใหม่แทนในปี พ.ศ. 2476 มีการเลือกตั้งทางอ้อม มีผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดเชียงใหม่ คือ หลวงศรีประกาศ ซึ่งได้อยู่อาศัยในพื้นที่สันป่าข่อย โดยได้ซื้อบ้านเดิมของสีโหม้ ซึ่งเป็นคริสเตียนพื้นเมืองคนสำคัญของคริสตจักรที่เชียงใหม่และต่อมาเปิดเป็นโรงแรมที่มีชื่อเสียง ต่อมามีการจัดตั้งเทศบาลนครเชียงใหม่ เพื่อพัฒนาระบบสาธารณูปโภคให้กับเขตเมืองแทนที่สุขาภิบาลเมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2478[6] มี พันเอกนายวรการบัญชา ลูกชาย พระพิจิตรโอสถผู้สร้างตลาดสันป่าข่อยเป็นนายกเทศมนตรีคนแรก เมื่อเจ้าแก้วนวรัฐสิ้นพระชนม์ ในปี พ.ศ. 2482 รัฐบาลคณะราษฎรที่มีทหารเป็นแกนนำจึงไม่มีการตั้งเจ้าเมืองอีกต่อไป ทำให้เชียงใหม่กลายเป็นส่วนหนึ่งของสยามโดยสมบูรณ์

ในช่วงปี พ.ศ. 2481-2486 รัฐบาลซึ่งกลายเป็นเผด็จการทหารได้ออกกฏหมายหลายฉบับที่กีดกันคนจีน ทั้งการประกอบอาชีพสงวนและจำกัดพื้นที่ตั้งถิ่นฐานในปี พ.ศ. 2484 มีการตั้งรัฐวิสาหกิจที่ทำการค้าและให้บริการในภาคธุรกิจที่สำคัญทั่วประเทศ เช่น การขนส่ง การจัดจำหน่ายข้าว สุราและยาสูบ อย่างไรก็ตามคนจีนและกิจการในเชียงใหม่รวมถึงย่านสันป่าข่อยได้รับผลกระทบเพียงบางส่วน เพราะนักธุรกิจเชื้อสายจีนตระกูลสำคัญได้มีการแต่งงานกับตระกูลเจ้านายและขุนนางท้องถิ่นมาโดยตลอดจนมีสายสัมพันธ์กับข้าราชการทั้งในพื้นที่และจากส่วนกลางอย่างแน่นแฟ้น จึงได้เปลี่ยนนามสกุลเป็นไทยจนหมด ในบางกรณียังตั้งบริษัทเพื่อทำงานกับรัฐวิสาหกิจในการขายสินค้าสำคัญ เช่น บริษัทที่ดูแลสัมปทานผูกขาดการผลิตและจำหน่ายสุรา บุหรี่ ให้กับรัฐวิสาหกิจตั้งอยู่ที่อาคารอนุสาร ย่านสันป่าข่อย หรือ สมาคมโรงสีภาคเหนือ เป็นเอกชนที่รวบรวมข้าวส่งให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการจัดจำหน่ายต่อไป แต่ยังมีคนจีนที่มีสายสัมพันธ์กับสมาคมคนจีนที่รัฐพบว่าสนับสนุนพรรคก๊กมินตั๋งต้องย้ายครอบครัวหนีไปแต่ให้หุ้นส่วนคนไทยดูแลกิจการ เมื่อสงครามโลกยุติ กลุ่มนักธุรกิจเหล่านั้นจึงได้กลับมาดำเนินธุรกิจในเชียงใหม่ต่อไป

ในปี พ.ศ.​ 2477 ได้มีการก่อตั้งสภาคริสตจักรในประเทศไทย (Church of Christ in Thailand-CCT)อย่างเป็นทางการสำหรับชาวคริสต์โปรแตสแตนท์ในไทยและเริ่มมีการถ่ายโอนอำนาจการบริหารจากคณะมิชชันนารีอเมริกันทั่วประเทศ ส่วนที่เชียงใหม่นั้น กิจการของคริสตจักรและโรงเรียนซึ่งมิชชันนารีอเมริกัน คณะเพรสบิสทีเรียนที่ริเริ่มดำเนินการมาแต่เดิมได้ถูกดูแลโดยลูกศิษย์คนคริสเตียนพื้นเมืองรุ่นแรกๆ คนเหล่านี้กลายเป็นศาสนจารย์ นักธุรกิจในสันป่าข่อยและครูในโรงเรียนของมิชชันนารี เช่น ศรีโหม้ วิชัย และ คำอ้าย ไชยวัณณ์ และลูกหลานซึ่งในที่สุดได้ร่วมกันก่อตั้งคริสตจักรมณฑลขึ้น[7]และดูแลชุมชนชาวคริสต์ในช่วงสงครามโลกเนื่องจากมิชชันนารีอเมริกันจำเป็นต้องหนีภัยสงครามกลับอเมริกาหรือหลบซ่อนตัวจากญี่ปุ่น เมื่อสงครามสงบจึงได้เชิญมิชชันนารีกลับมา แต่ในที่สุดเมื่อเห็นว่าคริสเตียนพื้นเมืองได้ดูแลคริสตจักรได้แล้ว คณะเพรสบิสทีเรียนอเมริกันจึงยกเลิกโครงการมิชชั่นสยาม ในปี พ.ศ. 2501 การถ่ายโอนภารกิจและการทำงานให้ชาวคริสเตียนท้องถิ่นไม่ได้ราบรื่นในทุกพื้นที่ของสยาม[8]แต่ไม่พบความขัดแย้งในเชียงใหม่ทั้งที่เป็นเมืองใหญ่ที่สุดมีวัดในพุทธศาสนาหนาแน่นที่สุด ทำให้เห็นถึงความเข้มแข็งของชุมชนชาวคริสต์คนเชียงใหม่และพื้นที่สันป่าข่อยที่สืบทอดเจตนารมณ์และรักษามรดกที่มิชชันนารีอเมริกันได้สร้างไว้และอยู่ร่วมกับชาวพุทธได้อย่างสันติสุข

โดยในช่วงสงครามโลก รัฐบาลไทยโดยมีจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นผู้นำได้สนับสนุนประเทศญี่ปุ่นและฝ่ายอักษะ ทำให้มีกองทหารญี่ปุ่นในเชียงใหม่ มิชชันนารีอเมริกันและชาวตะวันตกอพยพหนีไป แต่ยังมีกลุ่มธุรกิจคนไทยเชื้อสายจีนที่ทำงานและผลิตสินค้าขายให้กองทัพญี่ปุ่น เมื่อรัฐบาลของไทยเปลี่ยนไปหลังสงครามโดยมีกลุ่มเสรีไทยเป็นแกนนำและมีความสัมพันธ์กับนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ของประเทศสหรัฐอเมริกาในบริบทของสงครามเย็น ถึงแม้ว่ามีการปฏิวัติและการต่อต้านจนมีการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลสลับกันไประหว่างรัฐเผด็จการทหารและระบบรัฐสภาในช่วงตั้งแต่ปี  พ.ศ. 2490-2520 แต่นโยบายของรัฐไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก โดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานทั้งการคมนาคมและการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อการส่งออก เพื่อตอบโต้แนวคิดป่าล้อมเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ยึดจีนได้ กลุ่มธุรกิจของชาวเชียงใหม่เชื้อสายจีนในสันป่าข่อยจึงยังคงขยายตัวต่อเนื่องในบริบทที่ได้รับผลกระทบจากสงครามเย็น โดยมีการก่อสร้างขยายถนนที่เชื่อมต่อระหว่างเชียงใหม่กับเมืองรองรอบข้างและในจังหวัดข้างเคียงในภาคเหนือ ในปี พ.ศ. 2495 รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน โดยมีสาระสำคัญคือให้กรมทางหลวงแผ่นดินสร้างทางให้เสร็จ 88 สาย ภายใน 4 ปี (2495-2498) เฉพาะในภาคเหนือมีถึง 18 สาย เช่น จาก จ. ชัยนาท ถึง เกาะคา เมืองเถิน เมืองงาว จ. ลำปาง และ เมืองลี้ จ. ลำพูน อ. ร้องกวาง จ. แพร่ เมืองฝาง ถึง จ. เชียงราย ลำพูน – ลำปาง อ. แม่แจ่ม จ. เชียงใหม่ ถึง จ. แม่ฮ่องสอน นอกจากนั้น ยังได้มีการซ่อมแซมและขยายถนนสายต่างๆ เช่น ถนนเชียงใหม่ – ฮอด ถนนเชียงใหม่ – สันกำแพง ถนนเชียงใหม่ – สันทราย  เส้นทางเชียงใหม่ – เชียงดาว – ฝาง เส้นทางเชียงใหม่ – ลำพูน และการขยายถนนเส้นทางเชียงใหม่ – ลำปาง –นครสวรรค์ –เชียงราย – แม่ฮ่องสอน ซึ่งทยอยเสร็จในระหว่าง ปี พ.ศ. 2512-2530

โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่มีต่อเนื่องนี้มีผลทำให้เศรษฐกิจเมืองเชียงใหม่และในพื้นที่สันป่าข่อยซึ่งเกี่ยวกับวัสดุก่อสร้างและการซื้อขายสินค้าเกษตรเจริญรุ่งเรือง มีผลต่อมา คือ กลุ่มนักธุรกิจที่สันป่าข่อยนี้เองได้เป็นกำลังสนับสนุนโครงการหลายโครงการของรัฐตลอดจนบริจาคเงินเพื่อช่วยงานสาธารณะต่างๆ ของชุมชนในพุทธศาสนาและเมืองเชียงใหม่ เช่น กลุ่มพ่อค้าวัสดุก่อสร้างและเครื่องจักรให้การสนับสนุนครูบาศรีวิชัยในการสร้างถนนขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพและการบูรณะ ปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ กลุ่มนักธุรกิจท้องถิ่น โดยเฉพาะ ตระกูลนิมมานเหมินทร์ และ ชุติมา ยังได้สนับสนุนและเรียกร้องให้รัฐส่วนกลางลงทุนสร้างสาธารณูปโภคสำคัญ คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บนที่ดินซึ่งตระกูลนี้ยกให้รัฐ การตั้งมหาวิทยาลัยทำให้เกิดแหล่งงานถาวรและการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่นด้วย เช่น รูปแบบการก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ที่ใช้ทำถนนและการขึ้นโครงสร้างคอนกรีตแบบพิเศษต่างๆ ซึ่งใช้ในอาคารของมหาวิทยาลัย ส่งอิทธิพลให้รูปแบบอาคารพาณิชยกรรมในยุคนี้ของย่านสันป่าข่อยมีโครงสร้างและแผงกันแดดที่เป็นลักษณะเฉพาะ

นอกจากนี้ เมื่อรัฐบาลเป็นเผด็จการทหารอย่างต่อเนื่องในบางช่วง จึงทำให้ค่ายกาวิละเป็นเสมือนหนึ่งศูนย์กลางการปกครองในย่านนี้ด้วย จึงทำให้ย่านเป็นพื้นที่สำคัญและทันสมัยในชุมชนชาวเชียงใหม่ มีการสร้างสนามมวยชื่อ สนามมวยเดชานุเคราะห์ เปิดในค่ายกาวิละ[9]ในปี พ.ศ. 2489  ต่อมามีสถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีวิทยุ วปถ.2 เชียงใหม่ เป็นสถานีวิทยุแห่งแรกของเชียงใหม่[10] ในปีพ.ศ. 2498 มีโรงพยาบาลประจำค่ายกาวิละ ในปี พ.ศ. 2501[11] ทำให้ย่านสันป่าข่อยมีความเจริญยิ่งขึ้น ต่อมาในปี พ.ศ.​2510 มีโรงภาพยนตร์สร้างขึ้นที่สันป่าข่อยอีกแห่ง คือ โรงภาพยนตร์ชินทัศนีย์[12] ของ นายเลิศ ชินวัตร ทำให้มีแหล่งบันเทิงเพิ่มขึ้นในพื้นที่สันป่าข่อยอีกแหล่งสำหรับคนหนุ่มสาวในยุคนั้น

เมื่อมีโครงข่ายถนนที่ครบวงจรแล้วนั้น ได้มีการสร้างสถานีขนส่งจังหวัดเชียงใหม่แห่งที่ 1 หรือสถานีขนส่งช้างเผือกในตอนเหนือของเมืองเชียงใหม่เป็นสถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งแรกของภาคเหนือ ที่ถนนโชตนา ในปี พ.ศ.​2509 ต่อมาได้ขยายตัวไปยัง สถานีขนส่งแห่งที่ 2 ที่ถนนแก้วนวรัตน์ ในปี พ.ศ. 2526 การมีสถานีขนส่งและโครงข่ายถนนทางหลวงระดับจังหวัดเชื่อมเมืองในภาคเหนือเข้ากับกรุงเทพฯ​ทำให้การขนส่งโดยรถไฟเริ่มลดลง การขนส่งโดยรถบรรทุกทำได้สะดวกและเข้าถึงทุกที่ที่ถนนไปถึง ห้างร้านขายส่งสินค้าต่างๆจึงย้ายไปอยู่ตามถนนโครงข่ายรอบนอกเนื่องจากที่ดินมีราคาถูกและสะดวกในการหาที่จอดรถขนสินค้าขนาดใหญ่ เมื่อชุมทางของการคมนาคมขนส่งเปลี่ยนจากทางน้ำและทางรถไฟซึ่งย่านสันป่าข่อยอยู่ระหว่างกลางไปเป็นถนนและสถานีขนส่งนอกเมือง สันป่าข่อยและถนนเจริญเมืองจึงไม่ใช่พื้นทีที่เชื่อมต่อระหว่างเส้นทางขนส่งสำคัญอีกต่อไป ถนนเจริญเมืองเป็นถนนที่พัฒนาในช่วงแรกของการขยายตัวของเมืองเชียงใหม่มีขนาดเล็กและทำให้ไม่สะดวกกับการค้าส่งที่มีการหยุดจอดรถเพื่อซื้อของจำนวนมากซึ่งทำให้การจราจรติดขัดเมื่อเมืองขยายตัวและมีจำนวนรถยนต์มากขึ้น เนื่องจากย่านสันป่าข่อยถูกแวดล้อมด้วยสถาบันสำคัญ คือ ค่ายทหาร โรงพยาบาลและโรงเรียนขนาดใหญ่ 2 แห่ง การพัฒนาพื้นที่จึงมีข้อจำกัดหลายข้อ การพัฒนาในรูปแบบของอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษบนถนนเจริญเมือง ถูกจำกัดโดยกฎหมายความมั่นคง คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยเขตปลอดภัยในราชการทหาร พ.ศ. 2478 และ พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์ปลอดภัยในราชการทหารแห่งจังหวัดทหารบกเชียงใหม่ พ.ศ. 2483 พื้นที่ในตอนเหนือของถนนเจริญเมืองอยู่ในพื้นที่ใกล้กับสถานศึกษาทำให้จำกัดการใช้ประโยชน์ที่ดินและกิจกรรมในการเป็นสถานบันเทิง แต่ข้อดีที่การพัฒนาที่ดินในย่านนี้ชะลอตัวลงทำให้ย่านสันป่าข่อยยังมีอาคารที่มีคุณค่าในแต่ละยุคสมัยตั้งอยู่ไม่ถูกรื้อถอนไป


[1] สารานุกรมสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่มที่ ๑๕

[2] กมลธร ปาละนันทน์. (2561). โลกทัศน์ของสีโหม้ วิชัย ในยุคเปลี่ยนผ่านของสังคมล้านนา พ.ศ. 2432-2481. ปริญญานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ: กรุงเทพ. 32.  

[3] ชาลี เอื้อไพบูลย์. (2555). ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างมิชชันนารีอเมริกันกับกลุ่มชนชั้นต่างๆในสังคมเชียงใหม่ พ.ศ. 2410-2484  วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่:เชียงใหม่. 64.

[4] http://www.chiangmainews.co.th/chaingmai/intawa.html

[5] ยังไม่ทราบปีที่แน่ชัดว่าตลาดสันป่าข่อยสร้างในปีใดแต่มีบันทึกไว้ว่าเมื่อปี พ.ศ. 2469 ที่รัชกาลที่ 7 เสด็จเชียงใหม่นั้น มีตลาดสันป่าข่อยแล้ว และถูกสร้างโดย พระพิจิตรโอสถ ขุนอนุพลนครและพระยาอนุรุทเทวา พระพิจิตรโอสถเดินทางมารับราชการจากกรุงเทพฯ ในปี 2445 โดยที่อาจจะเป็นตลาดขนาดเล็กมาก่อน เพราะจาก อนุ เนินหาด, พ.ต.ท. (2549). สันป่าข่อย (สังคมเชียงใหม่ 15). นพบุรีการพิมพ์: เชียงใหม่. ระบุว่า พระพิจิตรโอสถได้มอบหมายให้ลูกชายเป็นผู้เก็บเงินค่าเช่าตลาดซึ่งบุตรชายควรบรรลุนิติภาวะแล้ว คืออายุ 18 ถึงสามารถทำงานได้จึงพอสันนิฐานได้ว่าตลาดน่าจะถูกสร้างเสร็จได้คือหลังปี พ.ศ. 2463 และก่อน 2469                 

[6]ดูเพิ่มเติมใน  ประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาลเมืองเชียงใหม่ ที่ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 30 ตอนที่ 0 ก หน้า 477 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2456

พระราชบัญญัติจัดตั้งเทศบาลนครเชียงใหม่ พุทธศักราช ๒๔๗๘  ที่ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 80 หน้า 2136 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2478

[7]กมลธร ปาละนันทน์. (2561). โลกทัศน์ของสีโหม้ วิชัย ในยุคเปลี่ยนผ่านของสังคมล้านนา พ.ศ. 2432-2481. ปริญญานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ: กรุงเทพ.น 86.

[8]Dahlfred, Karl. “A Bumpy Road to Indigenization: The American Presbyterian Mission and the Church of Christ in Thailand.” The Journal of Presbyterian History (1997-), Vol. 99, No. 1, Special Issue I: The Dynamics of Indigenization: Presbyterian and Reformed Histories on the World Stage (Spring/Summer 2021), pp. 35-47.

[9] https://www.youtube.com/watch?v=3WGMT-M4maY

[10] https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/913958

[11] https://fortkawilahospital.rta.mi.th/web/?page_id=16

[12] ศุภชัย แสนใจอิ. การวิเคราะห์เชิงภูมิศาสตร์ของสถานบันเทิงในเขตเมืองเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาภูมิศาสตร์)). เชียงใหม่ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2554. น. 63.