ที่ไปที่มาของร้าน McClanahan
“พื้นที่ตรงนี้ และตัวอาคาร McClanahan เป็นของมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย พื้นที่โดยประมาณก็จะเริ่มจากอาคารนี้สิ้นสุดตรงระริน จินดา เวลล์เนส สปา รีสอร์ท สำหรับอาคารหลังนี้เมื่อปีแล้ว ทางมูลนิธิฯได้มอบหมายให้โรงพยาบาลแมคคอร์มิคเป็นผู้ดูแล ทางทีมผู้บริหารโรงพยาบาลได้มีการ ประชุมกันไอเดียเริ่มแรกสำหรับอาคารหลังนี้มี 2 แบบ คือ 1.ทำคลินิก ซึ่งมีส่วนที่ต้องคิดกันต่อว่าจะเป็นคลินิกอะไร และเรื่องมาตรฐานที่จะตามมา แบบที่ 2 คือทำเป็นร้านกาแฟ พอพิจารณากันอยู่ระยะหนึ่งจึงได้ข้อสรุปว่าให้เปิดเป็นร้านกาแฟจะดีกว่า วัตถุประสงค์ก็เพื่อประกาศเผยแพร่เรื่องราวของคริสเตียน พร้อมกับหารายได้ เรื่องราวที่บอกเล่ากับอาคารหลังนี้เน้นไปที่พันธกิจของมูลนิธิฯ โดยนำภาพอาคารจากหลายๆ พื้นที่มาจัดแสดงเป็นนิทรรศการภาพถ่าย ร้านนี้เปิดเมื่อ 9 ธันวาคม 2022 จะครบหนึ่งปีอีกไม่กี่เดือนนี้แล้วครับ”
ประวัติอาคาร และที่ดินติดหัวสะพานนวรัฐ
“เริ่มต้นจากเจ้ากาวิละได้มอบที่ดินผืนนี้ให้กับคณะมิชชนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียนได้พักอาศัย พื้นที่แถวนี้จึงทำหน้าที่ทั้งเป็นที่พัก และเป็นสถานที่รักษา จำหน่ายยา และเผยแพร่ศาสนาแก่คนท้องถิ่น อาคารหลังนี้สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1921 เพื่อเป็น Health Center รักษาและจำหน่ายยา พอมีโรงพยาบาลแมคคอร์มิค ทางมิชชันนารีก็มอบอาคารหลังนี้ให้ทางโรงพยาบาลดูแลต่อน่าจะราวๆ ปีค.ศ. 1950 จากนั้นก็เปลี่ยนมาเป็นคลังห้องสมุด และมีโรงพิมพ์หนังสือคริสเตียน ตามที่ทราบคือไม่ได้มีเอกสารระบุเวลาไว้ชัดเจน แต่จากคำบอกเล่า ช่วงที่เป็นคลังหนังสือและโรงพิมพ์ อาคารหลังนี้ได้รับการดูแลจากสำนักงานคริสตจักรภาคที่ 1 เชียงใหม่ หลังจากนั้นอาคารก็ถูกเปลี่ยนเป็นสำนักงาน ให้สถาบันผู้สูงอายุแมคเคนเข้ามาดูแลอยู่พักหนึ่ง ตามด้วยหน่วยงานอนุชนสภาคริสตจักรในประเทศไทย ใช้เป็น Creative Youth แล้วก็เครือข่ายคริสตจักรจากประเทศเกาหลีใต้มาเช่าใช้ พอหมดสัญญา ทางมูลนิธิก็มอบหมายให้โรงพยาบาลแมคคอร์มิคดูแลต่อ ถ้าพูดถึงเรื่องโครงสร้างการดูแลพื้นที่ พื้นที่ตรงนี้เขาจะเรียกว่าเป็น คริสต์สถาน จะมีกรรมการที่แต่งตั้งโดยมูลนิธิฯ ขึ้นมาดูแล จะทำอะไร จะเปลี่ยนแปลงตรงไหนต้องผ่านความเห็นชอบคณะกรรมการ และแจ้งทางมูลนิธิฯ
ที่มาของชื่อร้านกาแฟ
ชื่อของร้าน ร้านแมคคานาฮาน คอฟฟี่ (McClanahan Coffee) เป็นชื่อของมิชชนารีท่านหนึ่ง คุณหมอแมคคลานาฮาน (นายแพทย์ (M.D.) Harry M. McClanahan (1856-1929)) เป็นมิชชันนารีรุ่นแรก รุ่นเดียวกับหมอแมคเคน (Dr. James W.McKean (1860-1947)) ที่เข้ามาเชียงใหม่ แล้วก็มาตั้งศูนย์ Help Center ที่นี่ ซึ่งหมอแมคคลานาฮาน ท่านน่าจะเป็นคนเริ่มต้นสร้างตึกนี้
สภาพอาคาร การปรับปรุง และนิทรรศการในร้านกาแฟ
ตอนที่เราเข้ามาสภาพอาคารทรุดโทรมพอสมควร ทางผู้บริหารให้สถาปนิกเขามาประเมินการปรับปรุงแล้วเราก็บอกไปว่าร้านกาแฟน่าจะออกมาเป็นแนวไหน แต่ชั้นล่างเราขอให้คงสภาพเดิมไว้ จุดประสงค์ของผู้บริหาร และคณะกรรมการ คือ อยากจะคงของเดิมไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่างผนังหนา ๆ ที่เห็นนี่ ถ้าจะเอาอะไรมาเจาะ เพื่อจะแขวนรูปหรือติดนู้น บางจุดก็จะยึดไม่ค่อยได้แล้ว เพราะเป็นปูนเก่า ฝ้าไม้ที่เห็นก็เป็นแบบเดิม ตอนที่ปรับปรุงเราก็คิด และดูแลที่นี้ให้เหมือนดูแลพิพิธภัณฑ์ ให้คงคุณค่าของอาคารเอาไว้ ไม่ไปเปลี่ยนอะไรถ้าไม่จำเป็น ตอนนี้นอกจากบรรยากาศแบบร้านกาแฟที่เห็น ก็จะมีส่วนนิทรรศการที่นำรูปเก่า หรือรูปอาคารสวยๆ ในเครือข่ายมูลนิธิฯ จากทั่วประเทศมาจัดแสดง ซึ่งจริง ๆ ส่วนนิทรรศการยังไม่ค่อยสมบูรณ์นัก กำลังหารือกันอยู่ว่าจะทำอย่างไรให้สามารถเล่าเรื่องพันธกิจให้ได้มากกว่านี้ อาจมีการนำเรื่องราวของมิชชันนารีที่เข้ามาเชียงใหม่ในยุคบุกเบิกมาจัดแสดงเพิ่มเติม ข้อมูลในยุคนั้นน่าสนใจมาก ทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ที่เรียงร้อยเป็น Timeline ได้เลย ภาพถ่ายจากพิมพ์กระจกฝีมือมิชชันนารีสมัยนั้นก็พอมี และสวยมาก หรือประวัติของหมอแมคคลานาฮาน ซึ่งตามบันทึกคือมีอยู่น้อยมาก และสั้นมาก ทั้งที่ร่วมยุคกับหมอแมคเคน ก็น่าจะนำมาจัดแสดง หรือแม้แต่ข้อมูลของอาคารหลังนี้แม้จะมีเพียงปีที่สร้าง กับรายละเอียดการใช้ประโยชน์ในยุคนั้น ก็ถือว่าน่าสนใจ
ในส่วนงานบริการจะสังเกตเห็นว่าพนักงานทุกคนสวมเสื้อมีตราโรงพยาบาล พวกเขาก็คือพนักงานลูกจ้างของโรงพยาบาลทั้งหมดนั้นแหละครับ เพียงแต่ไม่ได้ดูแลผู้ป่วย แต่มาทำงานทำกาแฟตรงนี้โดยเฉพาะ
Feedback ร้านกาแฟ
ถามว่าคนรู้จักมากขึ้นไหม ก็เยอะขึ้นนะครับ จริงๆ แล้วพื้นที่ตรงนี้ก็เหมือนอยู่ในเขตวัด ถามว่ามันแปลกใหม่ไหมก็คงเป็นเรื่องแปลก ทั้งสำหรับมูลนิธิฯ เอง และสำหรับคนที่มาใช้บริการ อย่างวันนี้วันพุธ ร้านลดราคา 50 % คนก็จะเยอะหน่อย ส่วนตัวคิดว่าเป็นเพราะยุคสมัยด้วย เดี๋ยวนี้ร้านกาแฟในย่านเก่า ๆ คนเขาฮิตไปกัน
จริงๆทางผู้บริหารมีเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือเราให้ความสำคัญกับงานประกาศ (ประกาศเผยแพร่ศาสนาคริสต์ และพันธกิจ : ผู้เรียบเรียง) และเรื่องรายได้เป็นเรื่องตามมา ถือว่าเป็นอีกทางที่ช่วยหารายได้เข้ามูลนิธิฯ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ตามพันธกิจ ในอนาคตก็มอง ๆ กันอยู่ว่าอาจจะมีแคมเปญเพื่อช่วยผู้ป่วยยากไร้ เป็นเรื่องที่คิด ๆ กันไว้แต่ก็ยังรอการพิจารณา ส่วนอนาคตที่แน่ๆ ของย่านนี้ รวมถึงแถวโรงพยาบาลแมคคอร์มิค เราก็มองเรื่องการเป็นย่านอนุรักษ์ เราสนับสนุนไปทางนั้น
ความทรงจำกับสันป่าข่อย
ผมไม่ใช่คนเชียงใหม่ พูดเมืองได้ อยู่มานานแล้ว มาเชียงใหม่เข้าเรียน ม.1 เข้าเรียนโรงเรียนปรินส์รอยฯ ปี 2525 เท่าที่จำได้สันป่าข่อยสำหรับผม ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยว เป็นทางผ่านสะมากกว่า ผ่านเพื่อจะไปย่านการค้าหลักที่อยู่ท่าแพ ข้ามสะพานไปก็ถือว่าเป็น Center Point ของโซนการค้าปลีก แถวๆ ตันตราภัณฑ์ท่าแพ ส่วนแถวนี้คือย่านขายพวกอุปกรณ์เกษตร มีร้านที่อยู่มานาน ๆ อย่าง ซิ้นเซียงหลี อะไรแบบนั้น
สำหรับผมอาณาเขตความเป็นสันป่าข่อยน่าจะเริ่มจากที่อาคารหลังนี้แหละ ความเป็นย่านวัดเกตฯ ก็เริ่มแถวๆ ระรินจินดาฯ การรวมตัวของคนที่รู้สึกว่าเข้มแข็ง และเป็นชุมชนจริงๆ ก็ตอนการคัดค้านเรื่องผังเมืองของย่านวัดเกต (ราวปี 2548-2550 : ผู้เรียบเรียง) และการร้องเรียนเรื่องเสียงจากสถาบันเทิง อันนี้นานแล้วจะ 20 ปีได้แล้วมั้ง
ความเปลี่ยนแปลงและภาพอนาคตสันป่าข่อย
การเปลี่ยนแปลงกับเมืองเชียงใหม่พูดยากเหมือนกันนะ อย่างการย้ายจากท่าแพ ไปนิมมานฯ มันก็เป็นเทรนด์ที่วูบขึ้นมาพักหนึ่ง อย่างตอนนี้ก็เป็นแถวๆ ย่านเก่าอย่าง ช้างม่อย และดูแล้วก็เริ่มลามมาสันป่าข่อยแล้ว ซึ่งมันก็บอกเป็นนัย ๆ ว่าคนเดินเริ่มย้ายออก และปล่อยให้เช่ามากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าจะให้มองว่าอีกสิบปีข้างหน้าสันป่าข่อยน่าจะเป็นอย่างไร ผมว่าเราต้องเริ่มจากถามถึงนโยบายหรือโครงการพัฒนาย่านตรงนี้ที่ถูกวางไว้ว่าเป็นอย่างไร เช่น ทางเทศบาลฯ หรือกฎหมายผังเมือง เขาเขียนไว้อย่างไร ได้ยินมาเหมือนกันว่าจะพัฒนาเป็นเมืองเก่า แต่ผมก็ไม่รู้แน่ชัด แล้วตึกเก่าบ้านเก่าๆ ก็เริ่มโดนรื้อ โดนปรับปรุงไปเยอะแล้ว จะทำยังไง ก็น่าเสียดายอยู่นะ คิดว่าถ้าจะพัฒนาจริง ๆ คงต้องมีการประชาสัมพันธ์ หรือคุยกันให้ชัดเจน เพราะเดี๋ยวนี้วันหยุดที่สันป่าข่อย คือ รถจอดกันยาวเลย เป็นที่พักผ่อนในวันหยุดไปแล้ว คนมากินกาแฟ มากินข้าว เพราะเริ่มมีร้านพวกนี้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็ดีกับการค้าการขายย่านคึกคัก แต่อนาคตก็ไม่แน่ไม่นอนเพราะมันเป็นเทรนด์