ละแวกบ้าน
ชุมชนทิพย์เนตร
โครงการต้นแบบการวางแผนละแวกบ้านโดยวิธีการบูรณาการเทคโนโลยีแบบจำลองสารสนเทศอาคารและกระบวนการวางแผนอย่างมีส่วนร่วม ดำเนินการโดยคณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภายใต้ 3 วัตถุประสงค์หลัก ประกอบด้วย 1) เพื่อสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลระดับย่านโดยใช้เครื่องมือ Building Information Modeling และ ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในรูปแบบ 2 และ 3 มิติ 2) เพื่อจัดทำกระบวนการมีส่วนร่วมระดับชุมชน (Community) และละแวกบ้าน (Neighbourhood) โดยนำผลวิเคราะห์ข้อมูลด้านอาคารและสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง และ 3) เพื่อจัดทำต้นแบบและแนวทางการพัฒนาแผนผังระดับย่าน (District Plan) โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูล Building Information Modeling และ ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ และกระบวนการวางแผนอย่างมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (Participatory Planning)
โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ ต้นแบบการทำงานในการใช้เทคโนโลยี กรบวกนารมีส่วนร่วม และการรักษาคุณค่าเมืองเก่าที่สามารถพัฒนาเป็นนวัตกรรมการทำงานในบริบทพื้นที่อื่นภายใต้บริบทใกล้เคียงกัน โดยเลือกพื้นที่นำร่องในการทำการศึกษา คือ ชุมชนทิพย์เนตร พื้นที่ดำเนินงานเลือกพื้นที่ชุมชนหนาแน่นในชุมชนทิพย์เนตรและชุมชนศาลาแดงบางส่วนภายใต้แนวเขตถนนหายยา ด้านหลังสวนสาธารณะหายยาถึงตอนใต้ของสวนกาญจนาภิเษก ตัดเข้าด้าน ตะวันออกของแนวกำแพงเมืองชั้นนอกเลียบตามแนวรั้วของหมู่บ้านระมิงค์นิเวศน์ด้านตะวันตกและด้านใต้ และตามแนวเขตของตลาดทิพย์เนตรจนบรรจบกับถนนทิพย์เนตร มีพื้นที่ประมาณ 62,371.18 ตารางเมตร ประกอบด้วยอาคารจำนวน 417อาคารส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัย ประกอบด้วยอาคารพาณิชย์ที่อยู่ด้านถนนสายหลัก ในชุมชนมีเส้นทางสัญจรครอบคลุมขนาด 1-3 เมตร มีพื้นที่ที่เป็นทางตัน มีโบราณสถานคือแนวกำแพงเมืองชั้นนอกและป้อมหายยา และมีทางน้ำผ่านพื้นที่คือลำคูไหวที่มีน้ำตลอดปีและมีน้ำมากในช่วงฤดูฝนจนทำให้เกิดปัญหาน้ำเอ่อล้นจนกลายเป็นน้ำท่วมขังในบริเวณข้างเคียง
โครงการวิจัยฯ ได้ดำเนินการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการณ์ร่วมกับชุมชนทิพย์เนตร ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และกลุ่มจ๊างเตอะ โดยได้มีการนำแผนที่พื้นฐาน (baseline map) โดยเน้นการมีส่วนร่วมของเครือข่ายในการร่วมกันระบุตำแหน่งที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติและแนวทางการออกแบบแผนผังละแวกบ้าน ผลที่ได้จากการประเมินอาคารที่มีความเสี่ยงสูงจะได้ถูกนำไปพิจารณาเพื่อพัฒนาข้อมูลอาคารในระบบแบบจำลองสารสนเทศอาคารสำหรับใช้พัฒนาเป็นตัวอย่างของการใช้ข้อมูลสนับสนุนกระบวนการวางแผนอย่างมีส่วนร่วมนำสู่การสร้างต้นแบบกระบวนการวางแผนละแวกบ้านร่วมกับหน่วยงานรับผิดชอบ
ข้อมูลเกี่ยวข้องกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในพื้นที่
- ตำแหน่งที่เคยเกิดไฟไหม้ในชุมชนกระจุกตัวอยู่บริเวณที่พักอาศัยใกล้กับแนวเขตโบราณสถาน
- ที่ผ่านมาการเกิดเพลิงไหม้ ไม่รุนแรงมากหนัก แต่พบว่าปัญหา คือ การเข้าถึงของหน่วยงานเพื่อบรรเทาสาธารณภัยเนื่องจากความคับแคบของตรอกและซอย
- ประเภทภัยพิบัติที่เคยเกิดขึ้น ได้แก่ ไฟไหม้ น้ำท่วม และดินถล่ม การเกิดไฟไหม้ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร และการเกิดน้ำท่วม สาเหตุเกิดจากน้ำล้นจากครองแม่ข่า
- การเกิดดินถล่ม สาเหตุเกิดจากการที่ดินจากแนวกำแพงดิน (โบราณสถาน) ชุ่มน้ำฝนและเกิดดินถล่มสร้างความเสียหายแก่บ้านเรียนตามแนวกำแพงดิน
แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับภัยพิบัติและความปลอดภัยในชุมชน
- ในพื้นที่ชุมชนมีจุด “ท่อแห้ง” และ หัวรับน้ำ”กระจายอยู่ในพื้นที่ชุมชน ดูแลโดยเทศบาลนครเชียงใหม่เพื่อใช้ประโยชน์ในการดับเพลิง
- พื้นที่ที่เหมาะสมต่อการอพยพ หรือ บรรเทาภัยชั่วคราว ได้แก่ สวนป้อมปืน ลานจอดรถตลาดทิพย์เนตร พื้นที่บริเวณสถานีขนถ่ายขยะมูลฝอย เทศบาลนครเชียงใหม่ และลานด้านหน้าห้องแถวที่มีการขายสุนัข (ด้านทิศใต้ของชุมชน) โดยรอบชุมชนมีพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงเพื่อบรรเทาสาธารณภัย
- พื้นที่เสี่ยงภัยสูง คือ บริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือของชุมชนซึ่งมีความแออัดของที่พักอาศัยสูง
- ที่ทำการชุมชนอยู่ในพื้นที่เสี่ยงสูง จึงไม่เหมาะสมต่อการเป็นพื้นที่อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย
การวิเคราะห์โดยฐานข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์
การวิเคราะห์เพื่อระบุอาคารที่จะได้รับความเสี่ยงต่อการลุกลามจากอาคารต้นเพลิงเป็นการดำเนินงานเพื่อเรียกใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ที่พัฒนาผ่านกระบวนการวิเคราะห์เชิงพื้นที่เพื่อสนับสนุนความต้องการของการดำเนินงานโครงการฯ เพื่อระบุอาคารตัวอย่างสำหรับพัฒนาข้อมูลอาคารในระบบแบบจำลองสารสนเทศอาคารสำหรับใช้พัฒนาเป็นตัวอย่างของการใช้ข้อมูลสนับสนุนกระบวนการวางแผนอย่างมีส่วนร่วมนำสู่การสร้างต้นแบบกระบวนการวางแผนละแวกบ้านต่อไป
การระบุอาคารสำหรับพิจารณาเป็นอาคารตัวอย่างสำหรับการพัฒนาแบบจำลองสารสนเทศอาคาร กำหนดให้พิจารณาจากอาคารที่มีโอกาสที่จะเป็นต้นเพลิง พื้นที่เสี่ยงที่อาคารข้างเคียงจะได้รับจากการลุกลามของไฟ
อาคารที่มีโอกาสสูงที่จะเป็นต้นเพลิงคืออาคารที่มีวัสดุหลักเป็นไม้ทั้งหลังในกรณีที่เกิดเพลิงจากอาคารมีโอกาสสูงที่จะเป็นต้นเพลิง พื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดการลุกลามของไฟพิจารณาจากความหนาแน่นของอาคารที่มีวัสดุที่มีความเสี่ยงต่อการติดไฟ กำหนดให้เป็นอาคารไม้ ระยะทางจากอาคารต้นเพลิง โดยความเสี่ยงจะลดลงในระยะทางที่ไกลออกจากอาคารต้นเพลิงมากขึ้น

การสร้างแบบจำลองสารสนเทศอาคาร อาคารตัวอย่างภายในชุมชนทิพย์เนตร
โดยทั่วไปแล้ว อาคารที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ หรือมีการใช้งานมานาน มักมีการจัดเก็บข้อมูลของอาคาร ในรูปแบบไฟล์ 2 มิติ หรือแบบแปลน แต่สำหรับงานวิจัยนี้ มีเพียงภาพจากแผนที่ ที่ทำการสำรวจเบื้องต้นเท่านั้น การสร้างแบบจำลองสารสนเทศอาคาร จึงต้องทำการสำรวจและเก็บข้อมูลของพื้นที่ในชุมชนก่อน เช่น ประเภทการใช้งาน ลักษณะทางกายภาพของตัวอาคาร จำนวนชั้นและความสูง รูปทรงหลังคา วัสดุที่ใช้ ทั้งตัวผนังอาคารหลัก พื้น หลังคา โดยส่วนใหญ่ดู รายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับประเภทวัสดุที่สามารถเกิดเพลิงไหม้เป็นหลัก โดยข้อมูลดังกล่าวต้องสัมพันธ์กับข้อมูลแผนที่ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์
ในส่วนของอาคารหลังที่ 1 ผู้วิจัยทำการเลือกยกตัวอย่างเป็นกรณีแรก โดยอาคารมีลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียว มีวัสดุผนังที่สร้างจากไม้จริงทั้งหลัง รวมไปจนถึงวัสดุโครงสร้างหลักของอาคาร มีการใช้แผ่นหลังคากระเบื้องลอนคู่ และแผ่นสังกะสี ซึ่งเป็นวัสดุโดยรวมมากกว่า 80% ของทั้งอาคาร เป็นวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงที่เป็นของแข็ง ซึ่งจัดอยู่ในประเภทของไฟประเภท A อาทิเช่น กระดาษ ไม้ ฝ้า ยาง พลาสติก ซึ่งสามารถติดไฟและลุกลามได้ อีกทั้งในบริเวณบ้าน ยังมีส่วนประกอบที่เสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ ด้วยวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงประเภท C ที่อาจเกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้า หรือสายไฟฟ้าลัดวงจรได้

ในส่วนของอาคารหลังที่ 2 ผู้วิจัยทำการเลือกยกตัวอย่างเนื่องจาก ตัวอาคารมีลักษณะเป็นอาคารหนึ่งชั้นครึ่ง มีวัสดุผนังที่สร้างจากไม้จริงผสมกับการใช้วัสดุผนังที่เป็นก้อนอิฐ มีการมุงหลังคาด้วยแผ่นสังกะสี และมีส่วนประกอบอาคารอื่นๆเป็นเหล็ก ในกรณีนี้ ปัจจัยเสี่ยงอาจมีน้อยลง เนื่องจากมีการใช้วัสดุอาคารที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังคงมีวัสดุอาคารหลัก ที่เป็นผนังไม้ ซึ่งเป็นวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงที่เป็นของแข็ง ซึ่งจัดอยู่ในประเภทของไฟประเภท A อาทิเช่น กระดาษ ไม้ ฝ้า ยาง พลาสติก ซึ่งสามารถติดไฟและลุกลามได้เช่นกัน จึงเป็นอีกกรณีที่น่าสนใจ และสามารถยกเป็นตัวอย่างได้

ในส่วนของอาคารหลังที่ 3 เป็นอาคารตัวอย่างที่มีลักษณะเป็นอาคารสองชั้น มีวัสดุผนังที่สร้างจากไม้จริงร่วมกับคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคามุงด้วยกระเบื้องลอนคู่ ซึ่งในกรณีนี้ ปัจจัยเสี่ยงอาจมีน้อยลงมากขึ้น เนื่องจากมีการใช้วัสดุอาคารที่ทนต่อการเกิดเพลิงไหม้ได้มากขึ้นนั่นเอง

จากการหารือและวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกับผู้อยู่อาศัยในชุมชนทิพย์เนตร พบว่าความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ปัญหาอัคคีภัย อันเนื่องมาจากลักษณะอาคารที่มีความหนาแน่นสูงและข้อจำกัดของเส้นทางเข้า-ออกหรือทางหนีไฟ แต่ยังมีภัยพิบัติอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ พื้นที่ภายในชุมชนมีหลายจุดที่จัดเป็นพื้นที่เสี่ยงสูง ได้แก่
- ปัญหาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต เช่น ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงฤดูแล้ง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในชุมชน, ปัญหากิ่งไม้จากต้นไม้ใหญ่หักโค่น
- พื้นที่ริมฝั่งทางน้ำ ซึ่งมีแนวโน้มเกิดน้ำท่วมซ้ำซาก ในทุกๆปี เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศที่เป็นพื้นที่ต่ำ และการก่อสร้างอาคารที่รุกล้ำแนวทางน้ำตามธรรมชาติ
- พื้นที่บริเวณแนวกำแพงเมืองเก่า ซึ่งมีโครงสร้างก่อสร้างที่ไม่ได้ถูกออกแบบให้มั่นคงถาวร หรือเสื่อมลงตามอายุการใช้งาน ประกอบกับระดับความสูงและความลาดชันของพื้นที่ ทำให้มีโอกาสเกิดดินถล่ม โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน
ต้นแบบและแนวทางการพัฒนาแผนผังระดับย่าน (District Plan)
จากกระบวนและผลข้อมูลข้อมูลเกี่ยวข้องกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในพื้นที่ประกอบกับข้อเสนอแนะแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับภัยพิบัติและความปลอดภัยในชุมชน โดยได้มีการกำหนดตำแหน่งในแผนที่ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาข้อเสนอเบื้องต้นแผนผังระดับย่านพร้อมแนวทางการพัฒนา ดังต่อไปนี้
แนวทางการพัฒนา 1: การเพิ่มจำนวนอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่ชุมชน
แนวทางที่ 1.1 ฟื้นฟูอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการบรรเทาสาธารณภัยในชุมชน
แนวทางที่ 1.2 ติดตั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการบรรเทาสาธารณภัยเพิ่มเติม
แนวทางที่ 1.3 จัดทำฐานข้อมูลในระบบออนไลน์เกี่ยวข้องกับตำแหน่งอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย
แนวทางการพัฒนา 2: การกำหนดพื้นที่บรรเทาสาธารณภัยในภาวะฉุกเฉิน
แนวทางที่ 2.1 กำหนดจุดอำนวยการและพื้นที่บรรเทาสาธารณภัยพิบัติระดับชุมชน หรือ ย่าน พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกเบื้องต้นในพื้นที่ ประกอบด้วย สวนป้อมปืน ลานจอดรถตลาดทิพย์เนตร พื้นที่บริเวณสถานีขนถ่ายขยะมูลฝอย เทศบาลนครเชียงใหม่ ลานด้านหน้าห้องแถว (ด้านทิศใต้ของชุมชน)
แนวทางที่ 2.2 จัดให้มีการอบรมผู้อยู่อาศัยในชุมชนเพื่อเตรียมการรับมือภัยพิบัติ และ ความรู้เบื้องต้นในการบรรเทาสาธารณภัย
แนวทางการพัฒนา 3: การพัฒนาและฟื้นฟูสภาพชุมชน
แนวทางที่ 3.1 ดำเนินการฟื้นฟูและปรับปรุงผังชุมชนและที่อยู่อาศัยในพื้นที่จุดเสี่ยงภัยสูง
แนวทางที่ 3.2 สนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องกับการบรรเทาสาธารณภัยและภัยพิบัติให้แก่ชุมชน
แผนที่ข้อมูลเกี่ยวกับผลการศึกษาของโครงการ