San Pa Koinian (สันป่าข่อยเนี่ยน) เราเป็น ‘คนสันป่าข่อย’ กับชาวสันป่าข่อย ออม อิชยา อักษรโศภณพันธุ์

โครงการย่านสันป่าข่อยสร้างสรรค์ ได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณออม อิชยา อักษรโศภณพันธุ์ คนสันป่าข่อยแท้ๆ เกิดและเติบโตที่นี่ และภูมิใจที่จะเรียกตนเองว่าเป็น “San Pa Koinian สันป่าข่อยเนี่ยน” (คนสันป่าข่อย)

ลองมาฟังเรื่องราวความสันป่าข่อย ผ่านสายตา ความทรงจำ และความคิดของคนสันป่าข่อย บอกเล่าเรื่องราวจากใจของคนในที่อยากให้คนนอกร่วมทำความรู้จัก และหลงรักสันป่าข่อยไปกับเธอ 

___

ขอเล่าย้อนไปถึงวัยเด็กสักหน่อย ตอนนั้นสันป่าข่อยเป็นอย่างไร

ออมขอเล่าผ่านสายตาของคนอายุ 42 ปีนะคะ เกิดที่นี่ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ตลอด เรียกว่าน่าจะเห็นในทุกช่วงเวลาของสันป่าข่อยแต่ความทรงจำในวัยเด็กอาจจะตกหล่นบ้างค่ะ สรุปได้ 3 คำ คือ สงบ สะดวกสบาย ค้าขายดี ภาพจำคือความคึกคักในช่วงกลางวัน แต่ละร้านค้ามีลูกค้าเข้าออกตลอด แต่ในช่วงเย็นหลังเวลาปิดร้านก็มีความสงบ ที่สำคัญคือค่อนข้างสะดวกสบายค่ะเพราะบ้านเราอยู่ในเมืองจะเดินทางไปไหนก็ง่ายไปหมด ใกล้ตลาด ใกล้โรงเรียน ใกล้โรงพยาบาล ผู้ใหญ่พูดเรื่องนี้กรอกหูบ่อยครั้งจนจำได้ ถ้านับรุ่นแล้วออมเป็นทายาท รุ่นที่ 3 ที่อยู่ในย่านนี้ รุ่นแรกคืออากงที่เข้ามาตั้งรกรากค่ะ

ตอนที่คุณอากงเข้ามา ท่านแวะที่ไหนบ้าง ก่อนจะมาถึงสันป่าข่อย

อาม่าเคยเล่าให้ฟังว่า อากงเป็นชาวจีนแต้จิ๋วเข้ามาไทย โดยผ่านทางกัมพูชาแล้วมุ่งหน้าสู่ไทยผ่านทางจันทบุรี หรือ ตราด อันนี้ไม่แน่ใจเรื่องจังหวัดที่เข้ามานัก จากเอกสารการเข้าเมืองทำให้รู้ว่าอากงเข้ามาในช่วงปีพ.ศ. 2489 ก่อนช่วงสงครามโลกครั้งที่2 แป๊ปเดียว เอกสารตัวนี้ตัวหนังสือไม่ชัดแล้วตัวเลขพ.ศ.อาจคลาดเคลื่อนนะคะ ออมคิดว่าน่าจะเป็นคนจีนอพยพยุคท้าย ๆ แล้ว เพราะจากนั้นไม่นานรัฐไทยก็ทำการจัดระเบียบและควบคุมคนจีนอพยพตามเอกสารประวัติศาสตร์ นับว่าเป็นโชคดีของอากงที่เข้ามาก่อนการเปลี่ยนแปลง การเข้าไทยของอากงก็คงมีเหตุผลเหมือนคนจีนทั่วไปในยุคนั้น ส่วนการเลือกเข้ามาเชียงใหม่น่าจะเป็นการชักชวนจากเพื่อน ๆ ที่เข้ามาอยู่ก่อน ช่วงแรกอากงได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่อำเภอสันป่าตองสักระยะ รับจ้างทำสวนและเป็นพ่อค้าเร่ไอติมจนมาพบรักกับอาม่าที่นั่น จากนั้นแต่งงานกันและย้ายมาตั้งรกรากที่สันป่าข่อย แน่นอนว่าในช่วงเวลานั้นเศรษฐกิจของย่านสันป่าข่อยเจริญรุ่งเรืองเฟื่องฟูที่สุด มีเถ้าแก่มากมายเกิดขึ้นในยุคนั้น คหบดีต่าง ๆ ก็ล้วนอยู่ในย่านนี้ทั้งสิ้น

ตอนนั้นที่บ้านสันป่าข่อยอากงทำธุรกิจอะไร

พอย้ายมาสันป่าข่อยยังไม่ได้เริ่มทำธุรกิจในปัจจุบันนี้ค่ะ ช่วงแรกในการใช้ชีวิตเหมือนคนจีนที่เริ่มเข้ามาตั้งรกรากใหม่คือรับจ้างทำงานทั่วไปและค้าขายทุกอย่าง อาม่าขายทุกอย่างในทุกเทศกาลค่ะ อากงโชคร้ายอายุสั้นไปหน่อย ประสบอุบัติเหตุทางถนนโดนรถชนเสียก่อน ตอนนั้นมีถนนตัดใหม่แล้วนะคะคือบริเวณแยกศาลเด็กค่ะ ออมเกิดไม่ทันนะคะ ไม่เคยเจออากง ย้อนกลับมาเรื่องธุรกิจคือเริ่มก่อร่างสร้างฐานะในรุ่นที่ 2 เกิดจากผู้หญิงสองคนที่เป็นเสาหลักของบ้านคือ  ตั่วโกวและหยี่โกว ธุรกิจก็ดำเนินมาจนถึงปัจจุบันค่ะ บ้านของออมทำธุรกิจหลักคือ ขายสลากกินแบ่งรัฐบาลทำครบวงจรเลยทั้งขายส่ง ขายปลีกและรับซื้อรางวัล เราทำธุรกิจนี้ยาวนานร่วม 50 ปีแล้วค่ะ ชื่อร้าน “เจ้เชง” ตอนนี้ยังทำธุรกิจนี้อยู่ค่ะเพิ่มเติมในปัจจุบันมีธุรกิจที่พักและมีตึกให้เช่าค่ะ

ทราบว่าคุณออมเคยเก็บรวบรวมข้อมูลประวัติศาสตร์ย่านสันป่าข่อย และจัดกิจกรรมเล่าเรื่องเก่า ทำนิทรรศการเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ ทำไมถึงสนใจทำ

ความเหงาเป็นจุดเริ่มต้นค่ะเมื่อต้องกลับมาทำงานที่บ้านและต้องดูแลอาม่าที่เริ่มป่วยจากวัยชราและโรคประจำตัว ความที่ทำงานนอกบ้านมาก่อน โดยเฉพาะงานสุดท้ายที่ทำก่อนลาออกเป็นงานที่สนุกมากมีกิจกรรมให้ทำเยอะและได้เดินทางด้วย เราต้องหาความสนุกและคลายความเหงา ความเบื่อในชีวิตประจำวันให้กับตัวเองซึ่งวิธีที่ค้นพบคือการเดินเล่นค่ะ ช่วงแรกนั้นยังอาศัยอยู่ชั้นบนของร้านค้า กิจวัตรประจำวัน คือเปิดร้าน 7 โมง ปิดร้าน 6 โมงครึ่งเวลาเย็น เป็นแบบนี้ทุกวันใน 1 สัปดาห์ ช่วงเวลาหลังปิดร้านเลยเลือกเดินเล่น จากนั้นเริ่มเพลินมีเวลาว่างทีไรต้องออกมาเดินดูสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมบ้านเรือน ร้านค้า ตลอดจนแอบสังเกตกิจกรรมต่าง ๆ ของคนในย่าน ทุกสิ่งล้วนน่าสนใจ มีการถ่ายรูปเล่นเก็บบันทึกไว้ดูส่วนตัว เราให้คำนิยามตัวเองว่าเป็น นักสังเกตการณ์ ถ้าถามว่าชอบอาคารไหน ตึกไหนของย่าน ขอยกมา 3 อาคาร คือ อาคาร วปถ. 2 .ที่มีความขรึม เท่ ส่วนตึกที่น่ารักมาก ๆ ของย่าน คือคาเฟ่ paw made ส่วนอาคารที่ทรงเสน่ห์ที่สุด รักที่สุดต้องยกให้บ้านไม้สองชั้นที่ติดกับธนาคารกรุงไทย เวลามองครั้งใดเหมือนต้องมนตร์ น่าจะเป็นบ้านไม้หลังเดียวที่หลงเหลืออยู่ในย่าน ทุกจุดที่เราได้เดินผ่านล้วนเห็นความงาม ความน่ารักที่แฝงอยู่ในอาคาร ตัวคนและบริบทแวดล้อม อดคิดไม่ได้ว่าภายใต้สิ่งเหล่านั้น น่าจะมีเรื่องราวให้เราค้นหา ประกอบกับมีเรื่องหนึ่งที่สนใจมากเกี่ยวกับย่าน คือ อัตลักษณ์ของคนที่นี่มันสะท้อนความเป็นย่านพอสมควร

ถึงแม้จะเรียนจบบัญชีมาแต่ชอบอ่านหนังสือและสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ชุมชน ประกอบกับได้รู้จักกับป้าอ้อ ศรีประกาศ จนได้รับโอกาสให้ร่วมจัดกิจกรรมในงานศรีประกาศอิชิในปี 2561จึงได้หยิบยกบันทึกบางส่วนมาจัดเป็นกิจกรรมค่ะ ระหว่างที่ได้จัดกิจกรรม ก็ได้เขียนเล่าเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในเฟสบุ๊กส่วนตัวบ้าง หรือในเพจที่พักของธุรกิจครอบครัวบ้างค่ะ ซึ่งทั้งกิจกรรมและการเขียนเล่าเรื่องทำไปด้วยความชอบ ซึ่งการเพิ่งได้จัดกิจกรรมครั้งแรกนั้นมีข้อบกพร่องหลายส่วนอยู่เหมือนกัน เนื้อหาไม่แน่นและเน้นเล่นสนุกส่วนตัวเกินไป

พอได้แสดงตัวว่าทำกิจกรรมหรือสนใจเรื่องของย่านทำให้รู้ว่ามีคนที่สนใจและอยากบอกเล่าเรื่องย่านนี้เหมือนกัน โชคดีมากที่มีโอกาสได้รู้จักอาจารย์อังคาร สุขเจริญ ซึ่งเป็นคนบ้านหลังชินเหมือนกัน (โรงหนังชินทัศนีย์ในอดีต) นอกเหนือจากป้าอ้อแล้วก็มีอาจารย์อังคารคนนี้แหละที่บันทึกเรื่องราวความก่อนหนหลังไว้

แสดงว่าได้เห็นสันป่าข่อยมาตลอดเวลา

จะว่าแบบนั้นก็ใช่ค่ะ ถูกค่ะ ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่มาตลอด คิดว่าตัวเองเป็นแฟนพันธุ์แท้ของย่านค่ะ ประมาณว่าแค่ได้กลิ่นก็รู้แล้ว ว่าอยู่ตรงไหน ไม่ว่าจะกลิ่นฉุนของหอมแดง กระเทียม ตลอดจนกลิ่นสาบฉุนของสารเคมีทางการเกษตร รวมถึงกลิ่นหอมฉุยของอาหารก็จำได้นึกออก จากการเฝ้าดู ย่านสันป่าข่อยที่ใครว่าเป็นย่านที่เงียบ ๆ นิ่ง ๆ เป็นแค่ทางผ่านเข้าเมืองหรือออกนอกเมืองของคนหลาย ๆ คน จริง ๆ แล้วมีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา และกิจกรรมการค้าต่าง ๆ ดำเนินไปอย่างปกติด้วยดีค่ะ ช่วง 4 – 5 ปีหลังมานี้ มีร้านใหม่ ๆ เกิดขึ้น มีคาเฟ่ต่าง ๆ ทยอยผุดขึ้นมาแทนที่ธุรกิจเดิม แน่นอนค่ะว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นตามยุคสมัย เดิมทีการสานไมตรีอาจเป็นการรินชาให้ดื่ม แต่วันนี้อาจเป็นการชวนกันกินกาแฟในคาเฟ่แทนค่ะ

เท่าที่สังเกต และรู้สึก ‘คนสันป่าข่อย’ มีลักษณะอย่างไร

ดูจากลักษณะภายนอกไม่ว่าจะเป็นวัยผู้ใหญ่กว่าเรา เพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันกับเรา จะเห็นหลาย ๆ คนหน้าตาออกตี๋ ๆ หมวย ๆ แต่อู้กำเมืองปร๋อ จนอดรู้สึกไม่ได้ว่าย่านนี้เป็นคนจีนล้านนาหรือเปล่า นี่ไม่ได้ต้องการสรุปแบบเหมารวมว่าทุกคนมีเชื้อสายจีนนะ เพียงแต่คนแวดล้อมหลายคนของเรานั้นมีลักษณะแบบนี้ แต่ตอนนี้ถ้าเรียกตัวเองคงเป็น “คนเจียงใหม่” กันหมดแล้วหล่ะ เป็น “คนเมือง” แล้ว แต่ยังไหว้เจ้าตามขนบธรรมเนียมได้และไหว้ผีปู่ย่าเป็นด้วย ด้วยความที่เป็นย่านการค้า กิจวัตรซ้ำเดิมทุกวัน เช้าเปิดร้าน เย็นปิดร้าน ตกเย็นอยู่บ้านใครบ้านมัน กินข้าวแล้วนอนเก็บแรงไว้ตื่นมาทำงานในตอนเช้าต่อ ลักษณะของคนในย่านจึงมีความเป็นปัจเจกสูง รักในความสงบ สันโดษ มองด้วยสายตาคนนอกอาจดูว่าเราเป็นคนเงียบๆ เก็บตัว จากการสังเกตผู้ใหญ่แวดล้อมคือ สมาคมกันเมื่อไปวัด สังคมกันเมื่อไปตลาด ผู้ใหญ่ค่อนข้างจะรู้จักกัน ส่วนรุ่นเราไม่ค่อยรู้จักกันแล้ว ถ้าไม่เคยเรียนหรือเคยเล่นด้วยกันมาก่อน เพื่อนหลายคนถ้าครอบครัวไม่ได้ทำธุรกิจหรือเลือกที่ไม่สานต่อธุรกิจเดิมก็เลือกย้ายออกไปอยู่ที่อื่น ในย่านจึงเหลือแต่คนแก่ ๆ รุ่นอาโกว อาแปะ อากง อาม่า เฝ้าร้าน มันเลยส่งผลให้ดูแล้วเป็นย่านนิ่ง ๆ เงียบ ๆ ก็ได้

ในความรู้สึกของคนสันป่าข่อย ย่านสันป่าข่อยกินอาณาเขตพื้นที่แค่ไหน

ถ้าตอบแบบใช้ความรู้สึกและความคิดเห็นส่วนตัว ไม่แน่ใจเรื่องความถูกต้อง คิดว่าหากเดินทางมาจากตัวเมืองเก่าข้ามสะพานนวรัฐลงมาคือย่านสันป่าข่อย หรือหากเดินทางมาจากถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ผ่านย่านหนองประทีป ผ่านสถานีรถไฟปุ๊ปนับเป็นสันป่าข่อยเลย เดาว่าทางทิศเหนือของย่านน่าจะไปจรดถึงโรงเรียนดารา ถ้าจำไม่ผิดเคยเห็นภาพว่าจุดรอรถเมล์หน้าโรงพยาบาลแมคคอร์มิคยังมีสกรีนติดตรงหลังคาว่า “กลุ่มหนุ่มสาววัดสันป่าข่อย” ซึ่งผ่านไปตอนนี้ไม่เห็นแล้วนะคะ ส่วนทางทิศใต้น่าจะยาวไปถึงค่ายกาวิละค่ะ แอบคิดเล่น ๆ ว่า แค่ถามคนในละแวกนี้ว่าเป็นศรัทธาวัดไหน ถ้าได้คำตอบว่าเป็นศรัทธาวัดสันป่าข่อยแล้วค่อยถามว่าบ้านอยู่ตรงไหน นั่นแหละพอจะอนุมานอาณาเขตของสันป่าข่อยได้ หนึ่งชุมชน หนึ่งวัดคือคำตอบ

ตัวตน คุณค่า หรือภาพจำของสันป่าข่อย ในมุมมองของคุณ

ความเรียบง่าย คือคำตอบค่ะคือตัวตนของคนในย่าน จากการสังเกตหลาย ๆ คนในย่านรวมถึงครอบครัวตัวเองด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ได้ดำเนินชีวิตแบบเรียบง่าย ยึดหลัก “พอใจในสิ่งที่มี ยินดีในสิ่งที่เป็น” อยู่สบาย ค้าขายได้คือจบ

ในเรื่องภาพจำของสันป่าข่อย ภาพแรกที่ลอยมาคงเป็นเรื่องของกินอร่อย เมื่อก่อนถ้าจะหาอาหารจีนอร่อย ๆ ย่านนี้ก็มีการถูกพูดถึงเสมอ ทั้งของที่ขายในตลาดหรือของกินข้างทาง ปัจจุบันร้านเก่าแก่อย่างซาลาเปาวิกุล ก็ยังขึ้นชื่อว่าเป็นของดี ของอร่อยของย่านที่ทุกคนต้องแวะเหมือนเดิม ขนมจีนมิชลีนในตลาดทองคำที่หลายคนชอบจนกลายเป็นร้านโปรดของคนเชียงใหม่รวมถึงเป็นร้านที่นักท่องเที่ยวปักหมุด กล้วยทอดบัตรคิว หมูทอดน้ำพริกหนุ่มป้าต้อยที่หลายคนซื้อเป็นของฝาก ช่วงเย็นก็มีร้านหมูกระทะออยโอ๊ต ร้านอาหารตามสั่งที่ชื่อผัดไทพิจิตร ร้านบะหมี่แมน หรือร้านบัวลอยไข่หวาน ร้านเหล่านี้เปิดมานานและมีชื่อเสียง ส่วนช่วงเช้าตรู่ยังมีร้านกาแฟเก่าแก่ของย่าน ชื่อ “ร้านกาแฟไข่ลวก” ที่ขายขนมปังสังขยาที่อร่อยมากนอกเหนือจากการขายชา กาแฟแบบโบราณและอาหารเช้าแบบโอลด์สกูล ถัดมาไม่ไกลกันนักยังมีร้านไก่ทอดสมุนไพรใต้ต้นไม้ที่ไม่ควรพลาด จากนั้นระหว่างวันยังสามารถเดินเล่นในย่านตลอดเส้นถนนเจริญเมืองเพื่อหาของอร่อยได้อีกเพราะมีคาเฟ่มากมายให้เลือกตามรสนิยม

ภาพถัดมาที่เห็นคือ ร้านเสื้อผ้ามือสองดี ๆ ที่คนรุ่นราวคราวเดียวกันกับออมจะรู้ว่ามีหลายร้านในตลาดให้เลือกช้อป ส่วนเรื่องอะไหล่รถ วัสดุอุปกรณ์ของเครื่องยนต์ เครื่องจักร เครื่องมือช่างก็มีให้เลือกซื้อหลายร้าน รวมถึงอู่ซ่อมรถดี ๆ ชื่อดังหลายอู่ได้แฝงตัวอยู่ในย่านด้วยเช่นกัน

อยากชวนย้อนเวลากลับไปภาพจำตอนเป็นเด็ก สันป่าข่อยวันนั้นเป็นอย่างไร

โดยส่วนตัวคิดว่าจะตอนเด็กหรือตอนนี้ สิ่งเหมือนเดิมคือเรื่องบรรยากาศแห่งการค้าขาย สองฟากถนนเจริญเมืองเต็มไปด้วยร้านค้า ไม่ว่าจะเป็นร้านอะไหล่ยนต์ ร้านวัสดุเคมีภัณฑ์ทางการเกษตร ร้านอาหาร ซึ่งในตอนเด็ก ๆ ก็รู้สึกว่าชีวิตสะดวกสบายอย่างไรก็ยังคงเป็นแบบนั้น อยากกินของอร่อยในย่านก็มีให้เลือกซื้อหามากมาย หากอยากซื้อวัตถุดิบดี ๆ อาหารทะเลมาทำกินในบ้านก็มีให้เลือก วัสดุอุปกรณ์จุ๊กจิ๊กอะไรก็หาซื้อได้ในตลาด ถ้าไม่มีจริง ๆ ก็แค่นั่งรถข้ามไปหล่ายหน้าเพื่อซื้อของที่กาดหลวงโดยรถสามล้อถีบรับจ้างซึ่งเรารู้สึกว่าสะดวกดีอาม่าชอบใช้บริการมาก ในตอนกลางคืนแม้ไม่คึกคักเท่ากลางวันเพราะไม่ใช่ย่านที่มีความเคลื่อนไหว 24 ชั่วโมงแต่เวลาหิวก็ยังออกมาหาซื้อของกินได้

ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นภาพและจดจำได้ดี

ราว ๆ ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาค่ะเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นชัดเพราะคาเฟ่มากมายทยอยเกิดขึ้นในย่านนี้ทดแทนร้านค้าเก่า ๆ ดั้งเดิม ทำให้ย่านนี้ได้รับการพูดถึงมากจากเดิมเป็นแค่ทางผ่านเพื่อไปที่อื่นหรือเป็นที่รู้จักของคนเฉพาะกลุ่ม ตอนนี้เป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้นเป็นทางผ่านที่ควรต้องแวะ ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจร้านค้าส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะธุรกิจเดิมต้องหยุดกิจการไปเนื่องจากไม่มีคนสานต่อ หรือไปต่อไม่ได้ด้วยสาเหตุของยุคสมัย หรือแม้กระทั่งต้องย้ายออกไปนอกเมืองเพราะความสะดวกในเรื่องของการขนส่งที่ไม่แออัดแบบร้านลิ้มศักดากุลเคมีเกษตร ซึ่งสถานที่เรานั่งคุยกันอยู่นี้ก็อยู่ภายใต้อาคารลิ้มศักดากุลที่ในอดีตขายอุปกรณ์และเคมีภัณฑ์ต่าง ๆ ทางการเกษตร ปัจจุบันเจ้าของอาคารได้จัดสรรพื้นที่ให้คนมาเช่าทำธุรกิจ มีทั้งคาเฟ่ชื่อ Flo coffee brewers และร้านขนมชื่อไอลี่ เบเกอรี่ ซึ่งดีมาก ๆ ในแง่สร้างความมีชีวิตชีวาให้อาคารอายุร่วม 100 ปีอีกครั้ง เหมือนต่อลมหายใจให้อาคาร ขณะเดียวกันกลายเป็นการส่งเสริมให้ย่านมีบรรยากาศที่ดี ดึงดูดความสนใจให้คนหันมามองความงามของอาคารเก่า และตระหนักถึงคุณค่าจนอยากรักษาและอนุรักษ์ตึกเก่า ๆ อาคารโบราณไว้

ตอนที่เราทำกิจกรรมคุยเรื่องคุณค่าของย่าน เคยคิดไหมว่าปลายทางจะสร้างผลการเปลี่ยนแปลง หรือคาดหวังการเปลี่ยนแปลงกับพื้นที่อย่างไร

จริงๆคาดหวังค่ะ คาดหวังให้เกิดการเชื่อมต่อและสานสัมพันธุ์กับคนในย่านจนมีการรวมกันแบบชุมชนในย่านเมืองเก่าเพื่อกำหนดทิศทางในการพัฒนาร่วมกัน เพราะเราไม่สามารถหยุดเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงได้แต่สามารถกำหนดและคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ในเชิงพัฒนาพื้นที่ร่วมกันค่ะ เพื่อให้การอยู่อาศัยของทั้งคนเก่าแก่ดั้งเดิมของย่านและคนใหม่ ๆ เป็นไปอย่างราบรื่น และเกิดเป็นพื้นที่เชิงสร้างสรรค์

ภาพของ community ที่ฝันไว้หน้าตาเป็นอย่างไร

อยากให้รักษาเสน่ห์ความเป็นสันป่าข่อยไว้ ทั้งความเรียบง่าย ไม่โฉ่งฉ่าง สามารถนวยนาดได้ มีการอยู่ร่วมกันอย่างผสมผสานสอดคล้องทั้งการใช้ชีวิตของคนเก่าในพื้นที่และคนใหม่ที่เข้ามาทำธุรกิจ ทั้งนี้อย่างที่บอกไปข้างต้นค่ะ ว่าต้องมีการพูดคุยและมีข้อกำหนดร่วมกันก่อน เจ้าของสินทรัพย์ที่ปล่อยเช่าอาจต้องเลือกผู้เช่าที่เข้ามาอยู่ในย่านพอสมควร เพื่อไม่ให้มาทำลายบรรยากาศดี ๆ ที่มีอยู่เดิมและไม่เบียดเบียนความสุขสงบของคนเก่าแก่ในย่าน แม้การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นตามยุคสมัยซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่มีคนให้ความสนใจย่านนี้ ขณะเดียวกันเราต้องคงไว้ซึ่งคุณค่าของย่าน เคารพคุณค่าของมรดกที่คนรุ่นก่อนทิ้งไว้ให้ด้วยค่ะ

ทั้งนี้หากมีโอกาสออมก็อยากเป็นอีกคนที่ร่วมบันทึกเรื่องราวของย่านและได้บอกเล่าให้คนอื่นได้ฟังค่ะ