สันป่าข่อย และตึกอนุสาร ความทรงจำจากจากยุคหลวงอนุสารสุนทร ถึงคุณสมยศ นิมมานเหมินท์

ขอคุณสมยศช่วยเล่าถึงความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับตึกอนุสาร และย่านสันป่าข่อย ให้พวกเราฟังหน่อยครับ

“ผมขอเริ่มเรื่องจากคุณหลวงอนุสารสุนทร คุณหลวงมีเชื้อสายจีน ครอบครัวตั้งรกรากที่ประเทศไทยย้อนไปไกลถึงสมัยอยุธยา คุณหลวงถือว่าเป็นคนรุ่นที่ 4 แล้วครับ จากอยุธยาพอกรุงแตก คนรุ่นต่อๆ มาได้ย้ายไปอยู่ธนบุรี แล้วค่อยย้ายมาลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ คุณหลวงเกิดที่เมืองลำพูนริมฝั่งน้ำกวง อยู่ได้สักพักครอบครัวก็ย้ายไปค้าขายแถวสบทา และย้ายมาอยู่หน้าวัดเกตการาม เมืองเชียงใหม่ ตอนอยู่วัดเกตฯ ช่วงนั้นอายุอานามอยู่ในช่วงวัยรุ่น ได้ฝึกหัดซ่อมจักรยาน  ตะเกียงลาน นาฬิกา ไปจนถึงพวกอาวุธปืน ไม่นานก็อพยพย้ายกันไปอยู่ฝั่งท่าแพ

ช่วงอายุราวๆ 25-30 ปี คุณหลวงได้ล่องเรือลงไปค้าขายระหว่างเชียงใหม่กับกรุงเทพ ตอนนั้นกิจการไปได้ด้วยดี จึงสร้างบ้านที่ถนนวิชยานนท์ คุณหลวงท่านจดบันทึกไว้ว่าได้ทำการค้าขายขึ้นลงเชียงใหม่-กรุงเทพกว่า 50 เที่ยว ในยุคนั้นการล่องเรือจากเหนือลงใต้ เชียงใหม่ไปกรุงเทพใช้เวลา 1 เดือน ขาขึ้นจากกรุงเทพกลับเชียงใหม่ใช้เวลา 2 เดือน แต่ละ1 ปี จะเดินทางได้ประมาณ 2 เที่ยว นอกจากกิจการค้าขายจะไปได้ด้วยดี คุณหลวงได้มีโอกาสเรียนถ่ายภาพโดยใช้ฟิล์มกระจก ถือว่าเป็นคนถ่ายรูปคนแรกของเมืองเชียงใหม่เลยก็ว่าได้ พอดีช่วงนั้นมีการสำรวจป่าไม้โดยกลุ่มช่างชาวตะวันตก ฝรั่งพวกนี้คือลูกจ้างที่ทางรัฐในรัชกาลที่ 5 จ้างมา กับกลุ่มมิชชันนารี พวกนี้จะมีกล้องติดตัว และผู้พิพากษามณฑลพายัพขณะนั้น (พระยาเจริญราชไมตรี) คนนี้เป็นนักเรียนเก่าอังกฤษก็ติดต่อกับพวกฝรั่ง คุณหลวงรู้จักกับเขาจึงได้เรียนการถ่ายภาพจากตรงนั้น ในช่วงเวลานั้น คุณหลวงถือว่าเป็นคนที่มีความสามารถมาก และมีหัวก้าวหน้าคนหนึ่งของเมือง”

แล้วย้ายจากท่าแพมาฝั่งสันป่าข่อยได้อย่างไร

“เหตุผลที่ย้ายจากท่าแพมาสันป่าข่อย เพราะช่วงเวลานั้นทางรถไฟและสถานีรถไฟเชียงใหม่ใกล้แล้วเสร็จ คุณหลวงท่านมีวิสัยทัศน์มองว่าพื้นที่แถวนี้อีกหน่อยจะเติบโต และค้าขายดี จึงสร้างตึกอนุสาร สาเหตุที่ท่านตัดสินใจเพราะเห็นแล้วว่าทางรถไฟเริ่มขยับขึ้นเหนือมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะครั้งที่ท่านได้มีโอกาสไปรับพระราชายาเจ้าดารารัศมีกลับจากกรุงเทพ ตอนนั้นขณะเดินทางผ่านเมืองอุตรดิตถ์ราวปี 2457 ท่านก็ได้ถ่ายภาพรถไฟที่สถานีอุตรดิตถ์มาด้วย ซึ่งในปีนั้นการขุดเจาะอุโมงค์ขุนตาลยังไม่แล้วเสร็จดี  ทางรถไฟมาแล้วเสร็จสมบูรณ์เอาเมื่อปี 2469 สมัยรัชการที่ 7

แผนการจะสร้างตึกอนุสารเพื่อการค้าการขายกับรถไฟเป็นการเตรียมการเอาไว้ล่วงหน้า พอรถไฟเริ่มเปิดใช้เต็มที่ การขนส่งทางเรือก็หยุดหมด อย่างที่บอกว่าการเดินเรือใช้เวลาเป็นเดือนๆ แต่ในสมัยนั้นการขนส่งเดินทางโดยรถไฟไปกลับใช้เวลาแค่ 2-3 วัน ตึกอนุสารได้เริ่มสร้างจริงๆ ก็ประมาณปี 2475 แล้วเสร็จ 2477 พอตึกสร้างเสร็จคุณหลวงท่านก็เสียชีวิตถัดมาไม่นาน ตึกอนุสารจึงเป็นรุ่นลูก (รุ่นปู่ย่า) รุ่นคุณพ่อผม รุ่นอาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินท์ เป็นผู้สืบทอด และทำกิจการต่อ  ผมนี่คือคนรุ่นที่ 4 แล้วครับ”

ตอนนั้นอาคารแห่งนี้มีกิจการอะไรบ้าง

“คุณพ่อผมทำขายเครื่องจักรกลการเกษตร เป็นเครื่องจักรสีข้าวขนาดเล็ก ลูกค้าก็คือชาวบ้านที่เขาอยากมีเครื่องสีข้าว หรืออยากทำโรงสีข้าวขนาดเล็ก ไม่ต้องไปพึ่งพาโรงสีใหญ่ ซึ่งดีกับเขาเอง เพราะเขามีข้าวเปลือกอยู่แล้ว สีเสร็จได้ข้าวขาว แกลบเอาไว้ใช้ ข้าวหักกับพวกรำก็เอาไว้เลี้ยงหมูเลี้ยงไก่ โรงสีเล็กถือว่าตอบโจทย์ชาวนายุคนั้นมากๆ พอเครื่องโรงสีเล็กขายดี มันกลายเป็นเทรนของย่านนี้ไปเลย พวกปุ๋ยพวกสารเคมีการเกษตร หรือของหนักๆ อย่างอะไหล่อุตสาหกรรมที่มากับรถไฟ ก็จะมาลงไว้ตรงนี้ คือแถวนี้จากคำบอกเล่าของคนรุ่นก่อนๆ เขาบอกว่าแถวนี้ไม่ค่อยมีอะไร จะมีก็โรงสีขนาดใหญ่รับซื้อข้าวเปลือกอยู่ใกล้ๆ สถานีรถไฟ อีกทีหนึ่งคือโรงสีแถวๆ หนองประทีป มีตรงนั้นอีก 2 โรง”

ในช่วงคุณสมยศเป็นเด็ก ย่านสันป่าข่อยเป็นอย่างไร  เรียกว่าเป็น center point ของการค้าขายได้ไหม

“แถวนี้เจริญมากครับ คึกคัก กิจการที่เกี่ยวกับสินค้าใหม่ๆ ที่มาจากรถไฟขายดิบขายดี เช่น พวกอะไหล่เครื่องจักร วัสดุก่อสร้าง ตามมาด้วยพวกโรงกลึง กับพวกงานชิ้นส่วนอุตสาหกรรม พวกที่เป็นช่างก็อยู่แถวนี้เพราะมีงานแถวนี้ อย่างคุณพ่อของผม ขายเครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องสูบน้ำ เครื่องตัดหญ้า ซ่อมรถยนต์ ทำโรงกลึง เรียกว่าย่านนี้เป็นศูนย์กลางการค้าการขายก็ว่าได้แต่เป็นศูนย์กลางที่ไม่ค่อยมีเงินเท่าไหร่ (หัวเราะ) เน้นให้บริการและค้าขายเครื่องมืออุตสาหกรรม ถ้าจะคึกคักแบบหมุนเวียนกันตลอด ต้องไปตลาดสันป่าข่อย อันนั้นคือคึกคักของจริง เพราะเป็นตลาดสด ขายอาหาร วัตถุดิบทำกับข้าว ให้พวกคนงาน ทหาร กับคนที่มาซื้อของในย่าน

ธุรกิจที่แตกต่างอีกแบบไปเลย และบริการทั้งคนแถวนี้และคนที่มาซื้อของ คนเดินทาง ก็มีอย่าง โรงหนังชินทัศนีย์ ของคุณพ่อคุณทักษิณ ชินวัตร มีโรงแรมรถไฟ ตึกใหญ่เลยหน้าสถานีรถไฟ ขยับห่างออกไปหน่อยก็จะเป็นโรงเรียน อย่างโรงเรียนปรินส์ฯ โรงเรียนดาราฯ และคริสตจักรที่ 1 เอาจริงๆ คนมีเงินมีทองเขาจะอยู่ฝั่งนู้น (ฝั่งกาดหลวง กาดต้นลำไย) ฝั่งนี้เป็นฝั่งขายส่ง ขายพวกเครื่องไม้เครื่องมือ ปูน เหล็ก ซีเมนต์ สี จะอยู่ทางนี้”

ความเปลี่ยนแปลงกับการค้าการขายที่สันป่าข่อย เริ่มเกิดขึ้นเมื่อไหร่

“เริ่มเมื่อการเดินทางโดยรถไฟเริ่มตก จากการมีถนนมีซุปเปอร์ไฮเวย์เชื่อมระหว่างเชียงใหม่กับกรุงเทพ เชียงใหม่กับลำปาง การเดินทางใช้รถทัวร์มากขึ้น เครื่องบินมากขึ้น ทางสันป่าข่อยก็เริ่มดรอปลง  แต่ว่าการมีอยู่ของโรงเรียนปรินส์ โรงเรียนดาราฯ โรงเรียนเชียงใหม่คริสต์เตียน และโรงพยาบาลแมคคอร์มิค ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ฝั่งตะวันออกยังคงคึกคัก และไม่ถึงกับซบเซาไปเลยทีเดียว”

ตอนนี้เริ่มมีกิจการใหม่ ๆ คนรุ่นใหม่เริ่มรู้จักสันป่าข่อยมากขึ้น คุณสมยศมีความคิดเห็นอย่างไรกระแสความเปลี่ยนแปลงช่วงนี้

“ถ้าสมมติว่าเราช่วยกันทำจริงจังๆ ให้มันบูม มันก็จะดี เหตุผลที่การค้าขายเครื่องจักรการเกษตรดรอปลงไป อู่ซ่อมรถดรอปลงไป เพราะธุรกิจมันเปลี่ยน เส้นทางค้าขายมันเปลี่ยน อย่างคนที่ขายรถยนต์ เดี๋ยวนี้เขาก็มีเซอร์วิสเซนเตอร์ของเขาเอง การขายอะไหล่แล้วได้ผลตอบแทนแบบเมื่อก่อนก็จะไม่ได้แล้ว เช่นเดียวกับเครื่องจักรกลการเกษตร แต่ก่อนเราเป็นตัวแทนขาย แต่ว่าช่วง 30 ปีให้หลัง ธกส. และบรรดาธนาคาร เขาก็ต่อตรงกับทางบริษัทเครื่องจักร มีสินเชื่อ มีบริการให้เลือกเยอะแยะ สภาพก็ไม่ต่างกันกับค้าขายอะไหล่  เท่าที่ผมสังเกตเทรนด์ของธุรกิจแบบคนรุ่นใหม่ เห็นว่าฝั่งช้างม่อยเริ่มบูม คนเขาชอบกัน มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเยอะ เปิดบริการร้านอาหาร โรงแรม บูติคโฮเทล ผมก็คิดว่าอีกหน่อยสันป่าข่อยก็น่าจะมีโอกาสและความเป็นไปได้เช่นเดียวกัน เปลี่ยนธุรกิจเดิมๆ ไปเป็นธุรกิจใหม่ จะให้ลูกหลานทำหรือให้เช่าอันนี้ก็สุดแล้วแต่

การส่งต่อมรดก ยกตัวอย่างเช่น ตึกอนุสาร คนในครอบครัวมีแนวคิดหรือความเชื่อที่ส่งต่อกันไหม

“เราคุยกันมาตลอดว่า เราจะพยายามพัฒนาที่นี่ให้ก้าวหน้าต่อไป คุยกับลูกๆ ว่าถ้าจะเริ่มก็เริ่มที่นี่ ในส่วนอื่นยังไม่ได้ทำก็เอาไว้ก่อน ยอมรับว่ายังคิดถึงอนาคตว่าถ้าการรถไฟของประเทศเราดีขึ้น รถไฟใหญ่ขึ้น เทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น จะเป็นรถไฟความเร็วสูงถึงแม้จะถึงแค่เมืองลำพูน เราเองก็น่าจะได้ประโยชน์ เพราะจากลำพูนมาเชียงใหม่ แล้วเป็นรถไฟภายในที่วิ่งติดต่อกันคล้าย ๆ กับแอร์พอตลิ้งค์แบบกรุงเทพ ก็น่าจะดีกับสันป่าข่อย สถานีขนส่งอาเขต พวกธุรกิจรถทัวร์ก็น่าจะกลับมาดีขึ้น

ในส่วนของอาคารอนุสาร คุณหลวงท่านทำไว้ดีมาก ได้อาศัยเหล็ก ปูนจากรถไฟ ทำคานค่อนข้างแข็งแรง  ฝาผนังยังใช้อิฐมอญกับปูนขาว แต่คานใช้ซีเมนต์กับเหล็ก คุณหลวงท่านออกแบบเอง เลือกทำเลเอง รู้ไหมทำไมท่านเลือกตรงนี้ จริงๆ ตามชื่อเลย ‘สันป่าข่อย’ คือที่ดินตรงนี้เป็นสันดอนที่มีต้นข่อยขึ้น สังเกตสิเวลาน้ำท่วมล้นมาจากน้ำปิง ย่านอื่นน้ำท่วมหมด ยกเว้นบริเวณนี้ ทั้งที่อยู่ริมน้ำ แปลกไหมล่ะ ก็เพราะว่าสูงกว่าที่อื่นๆ เป็นทำเลที่ดีมากทั้งอยู่อาศัยและค้าขาย”